กองทุน Super (Hi-Tech) Stock โดย Baillie Gifford

378 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กองทุน Super (Hi-Tech) Stock  โดย Baillie Gifford

ในช่วงที่หุ้นดิจิตอลและหุ้นไฮเท็คทั้งหลายโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก “บูม” หนักจนอาจจะเป็น  “ฟองสบู่” นั้น  นักลงทุนทั่วโลกต่างก็สนใจที่จะลงทุนในหุ้นเหล่านั้น  แต่เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับธุรกิจและตัวหุ้นมีจำกัด  คนจำนวนมากจึงสนใจที่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้อย่างชัดเจนเป็นที่ประจักษ์  และกองทุนหรือคนที่เป็นผู้บริหารที่โดดเด่นที่สุดอย่างน้อย 2 รายก็ปรากฏขึ้น  หนึ่งในนั้นก็คือกองทุน  ARK Invest ซึ่งทำผลงานการลงทุนในหุ้นไฮเท็ค-เปลี่ยนโลกได้โดดเด่นโดยเฉพาะในปี 2020 ที่กองทุนหลาย ๆ กองให้ผลตอบแทนเป็น 100-200% ในปีเดียว  อย่างไรก็ตาม สถิติการลงทุนของ Ark นั้นยังสั้นมากไม่ถึง 10 ปี  และในช่วงนั้น  มีหลายปีและหลายช่วงที่กองทุนก็ไม่ได้มีผลงานโดดเด่น  ตั้งแต่ต้นปี 2021 นี้กองทุนก็ยังติดลบอยู่ขณะที่ดัชนีหลัก ๆ ของโลกกลับบวกค่อนข้างดี   ดังนั้น  ผลงานหรือฝีมือการลงทุนของ Cathie Wood ยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป 

อีกกองทุนหนึ่งที่เน้นในหุ้นไฮเท็คหรือ “หุ้นแห่งอนาคต” คล้ายกับกองทุน ARK และก็มีผลงานยอดเยี่ยมเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2020 ในระดับ 100% เหมือนกันก็คือกองทุนของ Baillie Gifford แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ  ในปีนี้กองทุน Scottish Mortgage Investment Trust ที่เป็นกองทุนหลักของ Baillie Gifford ยังทำผลงานได้ดีเยี่ยมให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงวันนี้ประมาณเกือบ 20%  แต่นี่ก็ยังไม่น่าจะเรียกว่าการบริหารกองทุนทั้งสองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  ว่าที่จริง หลายคนอาจจะคิดว่าสองกองทุนนี้มีความคล้ายคลึงกันมากเพราะแม้แต่ตัวหุ้นที่ถือก็แทบจะซ้ำกันอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวอย่างเช่น  การถือหุ้นเทสลาจำนวนมากก่อนที่ราคาหุ้นเทสลาจะขึ้นระเบิดเป็น 10 เท่าในปีเดียว  เป็นต้น  ซึ่งก็คงมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ทำให้ผลงานทั้งสองกองทุนดีอย่างมหัศจรรย์ในปี 2020 และนักลงทุนทั่วโลกต่างก็ยกให้เป็นผู้บริหารกองทุนยอดเยี่ยมสุดยอดและเงินลงทุนก็พุ่งเข้ามาจนกองทุนใหญ่โตขึ้นสู่ระดับโลกในเวลาอันสั้น 

ในความคิดของผมเองนั้น  ลึก ๆ  แล้วผมรู้สึกว่าการบริหารกองทุนของทั้งสองแห่งอาจจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก  ผมเองเคยพูดถึง ARK มาบ้างแล้วในบทความเรื่อง “วิธีเลือกกองทุนรวม” เมื่อตอนต้นปี 2021 แต่ก็ไม่ได้พูดถึงหลักการหรือปรัชญาการเลือกหุ้นลงทุนของเขามากนัก  ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะบริษัทยังใหม่มาก

แต่สำหรับ Baillie Gifford ผมศึกษาดูแล้วก็รู้สึกว่าแนวความคิดของการบริหารของ James Anderson ซึ่งเป็นผู้บริหารหลักของบริษัทตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมานั้นมีความน่าสนใจมากในแง่ที่ว่ามันเป็น  ความคิดของนักลงทุนที่เน้นแนวทางการลงทุนแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” หรือถ้าจะให้ชัดเจนขึ้นอีกก็คือ  การลงทุนใน  “Super Hi-Tech Stock”  อย่างที่ผมเองก็ยึดปฏิบัติมานานตามแบบของวอเร็น บัฟเฟตต์  นั่นก็คือเป็นการลงทุนในบริษัทที่จะเติบโตต่อเนื่องยาวนาน  ซึ่งจะเน้นถือหุ้นที่เป็นผู้ชนะ  มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน และอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นเมกาเทรนด์ที่จะยังอยู่ต่อไปอีกนาน  เมื่อซื้อแล้วก็จะถือเอาไว้ยาวนานอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็น 10 ปีขึ้นไป  และจะขายต่อเมื่อมันเปลี่ยนไปหรือหยุดโตอิ่มตัวแล้ว  เพียงแต่ในกรณีของ Baillie Gifford นั้น  เขาเน้นไปที่บริษัทไฮเท็ค ยุคใหม่  ในขณะที่วอเร็น บัฟเฟตต์และผมเองนั้นก็ยังคงยึดสินค้าแบบดั้งเดิมมากกว่า

ประการแรกก็คือ  Baillie Gifford นั้นเป็นบริษัทที่อยู่มาเป็น 100 ปีแล้ว  แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระดับ “ปฏิวัติความคิด” ก็คือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา  ผู้บริหารบริษัทจำนวนเกือบ 50 คนที่เป็น  “หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบ” นั้นต่างก็อยู่กับบริษัทมานานมาก  ส่วนใหญ่ก็น่าจะเกิน 20 ปีขึ้นไป  ทุกคนมีรายได้และทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งติดอยู่กับผลประกอบการของการลงทุนของตนเอง  ดังนั้น  “การมองระยะยาว” ถูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมของบริษัท  ทุกวันนี้  Investment Horizon ของการลงทุนก็คือ  เวลาจะเลือกหุ้นลงทุนแต่ละตัวทุกคนก็จะมองว่าจะต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 5-10 ปีขึ้นไป  การที่จะจับกระแสสั้น ๆ  หรือเก็งกำไรผลประกอบการนั้นจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด  เช่นเดียวกับการที่จะไม่สนใจการขึ้นลงของดัชนีหุ้นในระยะสั้น ๆ  ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่สนใจภาพใหญ่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย  ดังนั้น  การทำงานวันต่อวันหรือเครื่องมือในการคิดหรือค้นคว้าหาการลงทุนของพวกเขาจึงแตกต่างจากผู้บริหารเงินลงทุนอื่นมาก  คำคมที่แขวนอยู่หน้าสำนักงานใหญ่ที่เอดินเบิร์ก สก็อตแลนด์ก็คือ  “นักลงทุนที่แท้จริงคิดไปข้างหน้าเป็นทศวรรษ”

ที่ทำงานของพวกเขานั้น  ดูจะเหมือนห้องสมุดที่เงียบสงบ  ไม่มีเสียงพูดโทรศัพท์สั่งซื้อขายหุ้นโหวกเหวก  หนังสือที่พวกเขาอ่านเน้นไปในเรื่องของระยะยาวและเป็นเรื่องของบทความและการศึกษาทางวิชาการมากกว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจประจำวันหรือรายเดือน  จำนวนมากเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่จะทำให้เห็นอดีตและการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะเรียนรู้ว่าอนาคตจะไปทางไหน  ว่าที่จริง James Anderson เองนั้น  ไม่ได้เรียนมาทางสายการเงิน  แต่จบปริญญาสาขาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด

การทำงานหรือบริหารการลงทุนของ Baillie Gifford นั้น  เน้นให้พนักงานคิดแบบมีจินตนาการ  คิดถึงสิ่งดี ๆ  ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่จะเข้าลงทุนในอนาคตในโลกยุคใหม่ที่มีเท็คโนโลยีเป็นตัวนำ  โดยที่จะตัดประเด็นปลีกย่อยและผลประกอบการโดยเฉพาะกำไรระยะสั้นของบริษัท  เช่นเดียวกับการที่จะไม่มองเรื่องของการประเมินราคาหุ้นมากนัก  ในประเด็นนี้ผมเองก็ดูว่าการมองหาหรือลงทุนในซุปเปอร์สต็อกนั้น  เราควรจะมองจาก  Market Cap. มากกว่าเรื่องของค่า PE หรือตัวเลขอื่น  เพราะอนาคตนั้นบริษัทอาจจะโตต่อไปได้มากแบบก้าวกระโดด  การมองระยะสั้นอิงจากค่า PE จึงไม่น่าจะใช้ได้

แหล่งข้อมูลของคนทำงานของ Baillie Gifford นั้น  ไม่ใช่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญสุดยอดในวงการดิจิตอลหรือไฮเท็คแต่ละอย่าง  นี่จะทำให้พวกเขามีโอกาสได้พบกับบริษัทที่จะเติบโตขึ้นเป็นซุปเปอร์สต็อกในอนาคต  Baillie Gifford ซื้อหุ้นอะมาซอนตั้งแต่ปี 2004 หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันหุ้นขึ้นมา 65 เท่า  ซื้อหุ้นเทสลาในปี 2013 และหลังจากนั้นหุ้นก็ขึ้นมา 88 เท่า  พวกเขายังซื้อหุ้นของ Meituan ซึ่งเป็นแอ็ปส่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2015 ซึ่งหลังจากนั้นมันก็ “โตระเบิด” สามารถส่งอาหารได้วันละหลายสิบล้านกล่อง  นอกจากนั้น  ยังลงทุนในหุ้นของ ByteDance เจ้าของแอ็ป “ติ๊กต็อก” จำนวนมาก ซึ่งก็น่าจะทำเงินมหาศาลเมื่อบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมนวัตกรรมต่าง ๆ  ที่บริษัทเข้าไปลงทุนตั้งแต่ช่วงต้น ๆ  เช่น  เรื่องของการจัดการกับคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน  เรื่องเกี่ยวกับยีนของมนุษย์ในวงการแพทย์  การพัฒนาแบตเตอรี่รถไฟฟ้า  เป็นต้น

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น  อาจจะทำให้นักลงทุนหลายคน  “ฝันบรรเจิด” และอยากลงทุนเกาะกระแสไปกับการ “ปฏิวัติ” และการเติบโตของเทคโนโลยีในอนาคต  โดยการซื้อกองทุนรวมที่บริหารโดยบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีแนวทางการคิดและการบริหารการลงทุนที่ถูกต้องอย่าง  Baillie Gifford ซึ่งก็มีไม่รู้ว่าจะกี่กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเป็นแบบ Feeder Fund โดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยหลายแห่ง  แต่จริง ๆ  แล้วผมอยากจะเตือนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง”  และผมเองก็ยังไม่ลงทุนเพราะผมเองก็ไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะยังทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมแบบเดิมไหม

เพราะในความเป็นจริง  ผลงานที่สุดยอดนั้น  เพิ่งจะเกิดจริง ๆ ก็ในช่วงประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่หุ้นไฮเท็คโตระเบิดอานิสงค์สำคัญส่วนหนึ่งจากการที่สภาพคล่องทางการเงินล้นเหลือทั่วโลกและเงินนั้นถูกนำมาเก็งกำไรในหุ้นร้อนแรงซึ่งส่วนสำคัญก็คือหุ้นดิจิตอลและไฮเท็คที่เป็นผู้ชนะ  ซึ่งราคาหุ้นเหล่านี้ก็อาจจะเป็น “ฟองสบู่” อยู่ก็ได้  เมื่อใดที่  “ฟองสบู่แตก”  อาจจะเพราะเงินเฟ้อที่รุนแรงหรือ “สงคราม” ทั้งเย็นและร้อนระหว่างจีนกับตะวันตก  หรือกฎระเบียบการควบคุมของรัฐต่าง ๆ  เช่นจีนไม่เอื้ออำนวยกับบริษัทและตลาดหุ้น  เราก็อาจจะเจ็บหนักได้  เหนือสิ่งอื่นใด  จำไว้เสมอว่า  ในยามที่ทุกอย่างดูสดใสและผู้คนต่างก็มั่นใจในหุ้นและอนาคตของอะไรก็ตาม  วันนั้นก็อาจจะเป็นจุดสูงสุดของหุ้นและตลาดหุ้นได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้