ภาคบริการไทย ถึงเวลายกเครื่อง?

445 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาคบริการไทย ถึงเวลายกเครื่อง?

KKP Research ระบุ ภาคบริการไทยแบบเดิมไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวได้เหมือนในอดีต 

แม้นักท่องเที่ยวจะสามารถกลับเข้ามาท่องเที่ยวได้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 จบลง แต่ภาคบริการที่พึ่งพิงเฉพาะการท่องเที่ยว กลับไม่อาจช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจได้ในระยะยาว เพราะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ จากทั้งปัญหาการถูกทิ้งห่างด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือพูดง่ายๆ ว่า "เศรษฐกิจไทยแบบเก่าเริ่มไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่ ที่มีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมาก" 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่การท่องเที่ยวไทย ยุคหลังโควิด-19 จะฟื้นตัวได้ไม่ดีอย่างที่หวัง เพราะกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10%) อาจไม่กลับมาอย่างถาวร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน (มีสัดส่วนราว 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด) อาจกลับมาต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทางการจีนมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ดังนั้น ไทยต้องมองหาเครื่องยนต์อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเติบโตที่อาจลดลงในระยะยาว  

ภาคบริการเดิมไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว  

โดยหลักการแล้ว สามารถแบ่งกลุ่มภาคบริการออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มบริการสมัยใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรม (Modern Services) เช่น กลุ่มสื่อสารและสารสนเทศ (2) กลุ่มบริการดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงานทักษะต่ำ และเน้นการค้าระหว่างประเทศ (Low-Skill Tradable Services) เช่น ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง (3) กลุ่มบริการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและพึ่งการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Low-Skill Domestic Services) เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ (4) กลุ่มบริการที่เน้นแรงงานทักษะสูง (High-Skill Intensive) เช่น แพทย์ การศึกษา   

เมื่อพิจารณาลักษณะของภาคบริการไทย จะพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่า ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นตัวตามเศรษฐกิจมากกว่าตัวนำเศรษฐกิจ เพราะ 3 เหตุผล ประการแรก โครงสร้างภาคบริการไทยยังอยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่า เช่น การค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง การให้บริการสาธารณะ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อย ประการที่สอง ภาคบริการไทยไม่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม และประการสุดท้าย การเติบโตหลักของบริการในระยะหลัง เกิดจากภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนทิศทางนโยบายของไทยในอดีต ว่า ภาคบริการไทยยังไม่ได้รับการใส่ใจจากนโยบายภาครัฐ และไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว ทำให้โครงสร้างภาคบริการของไทยยังเป็นภาคบริการแบบเก่า  

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ชี้ประเด็นว่า แม้ภาคบริการไทยจะยังเติบโตได้ แต่ไทยยังตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากองค์ประกอบของภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้วมักมีลักษณะเป็นบริการสมัยใหม่ในสัดส่วนที่สูง เช่น การบริการในกลุ่ม IT คอมพิวเตอร์ การเงิน ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือธุรกิจ (Professional Business Services) จะมีสัดส่วนสูงราว 30-40% จากบริการทั้งหมด ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา กลับมีสัดส่วนเพียง 10-20% เท่านั้น สำหรับเศรษฐกิจไทย ถือว่ามีสัดส่วนภาคบริการค่อนข้างใหญ่ คือ ประมาณ 60% ของ GDP แต่เป็นบริการสมัยใหม่เพียง 14% เท่านั้น สะท้อนชัดเจนว่าภาคบริการไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก 

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะบริการสมัยใหม่สามารถทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาภาคการผลิตก่อนตามความเชื่อแบบเก่า จากคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ 

1) สามารถส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ โดยเมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกที่เกิดจากภาคบริการ จะพบว่าประเทศพัฒนาแล้วพึ่งพาภาคบริการในประเทศเป็นหลักเกินกว่า 80% ของบริการทั้งหมด ขณะที่ไทยพึ่งพาบริการในประเทศเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมด   

2) สามารถเพิ่มขนาดตลาด (scalable) ผ่านการหารายได้จากการค้ากับต่างประเทศ (Tradeable) ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตและมูลค่าของการค้าบริการสูงกว่าการค้าสินค้าปกติ สะท้อนโอกาสจากการเติบโตในภาคบริการที่ยังมีอยู่สูง  

3) เทคโนโลยีใหม่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสการขยายตัวและประสิทธิภาพของภาคบริการในอนาคต (Innovation) โดยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาจะให้ประโยชน์มากกว่ากว่ากับกลุ่มบริการแบบใหม่ (Modern Services) โดยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ผ่านรูปแบบของ Online Outsourcing ในขณะที่บริการแบบเก่าได้ประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มบริการที่ต้องเจอหน้ากันโดยตรง เช่น การค้า การท่องเที่ยว  

นโยบายภาครัฐ ปัจจัยสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคบริการ 

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร สรุปภาพรวมว่า เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์และสามารถพัฒนาภาคบริการได้อย่างเต็มที่ในระยะต่อไป ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทอย่างน้อย 2 เรื่อง ประเด็นแรก เร่งปฏิรูปและปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน เพราะการพัฒนาภาคบริการจะเกิดขึ้นได้จากแรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคบริการ ซึ่งแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม ประเด็นที่สอง เร่งปฏิรูปกฎระเบียบ ผ่อนคลายมาตรการปกป้องภาคบริการไทยด้วยการเปิดเสรีให้มากชึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการในภาคบริการ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาภาคบริการได้เร็วขึ้น 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้