649 จำนวนผู้เข้าชม |
การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังไต่ชาร์ตขึ้นมาเป็น Top 3 ของโลก จากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งปริมาณการเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรม Pet Humanization ที่เจ้าของใส่ใจสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว โดยพร้อมจ่ายเงินเพื่อซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูง ประกอบกับความได้เปรียบทางด้านภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำคัญบางประเทศ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น ทำให้โอกาสเติบโตยังเปิดกว้างต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงปีหน้า (2565) พุ่งแตะระดับ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตราว 20% จากปีนี้ (YoY)
อย่างไรก็ดี ยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องติดตาม และหาทางจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้น หรือการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรง โดยเฉพาะจากคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่เริ่มมีบทบาทในตลาดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ การจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ไทยจำเป็นต้องสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย กว่า 80% รับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำเพื่อขายในตลาดโลก มีเพียง 20% เท่าน้ั้นที่เป็นแบรนด์ไทย
ดังนั้น เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน ศูนย์วิจัยฯ อยากเสนอแนะให้ผู้ประกอบการไทยเร่งสร้างแบรนด์ และพัฒนาคุณภาพของสินค้า เพื่อเจาะตลาดอาหารสัตว์เกรดพรีเมี่ยม ซึ่งจะเป็นเทรนด์ในระยะข้างหน้า ที่สำคัญ คือ การเตรียมการรองรับความต้องการของตลาดนำเข้าหลักทั่วโลก ซึ่งในระยะต่อไปจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานการผลิต ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน (CO2) รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เป็นต้น
่อีกประการหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยควรคิดค้นและพัฒนาสูตรอาหาร ที่เน้นเรื่องสุขภาพอนามัยของสัตว์เลี้ยง ให้สอดรับกับพฤติกรรมของเจ้าของที่นับวันจะให้ความใส่ใจต่อสุขภาพของสัตว์มากขึ้น อีกทั้งสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มอายุยืน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา