แนวโน้ม Food Delivery ปีหน้ายังโตต่อ แต่ร้านอาหารเต็มรูปแบบ และกลุ่มร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ มีการบ้านให้ขบคิด

404 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนวโน้ม Food Delivery ปีหน้ายังโตต่อ แต่ร้านอาหารเต็มรูปแบบ และกลุ่มร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ มีการบ้านให้ขบคิด

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการจำกัดการให้บริการร้านอาหาร ขอให้พนักงานทำงานที่พัก (Work from Home) มีผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารไปส่งยังที่พัก (Food Delivery) จนมีผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจ Food Delivery ปีนี้ (นับรวมสินค้าหมวดเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม อาทิ ชา กาแฟ น้ำผลไม้) เติบโตจากปีก่อน กว่า 46.4%   

สำหรับแนวโน้มปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ประมวลข้อมูลโดยอาศัยข้อมูลจาก LINE MAN และ Wongnai ประเมินแนวโน้มการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ว่า น่าจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีนี้ เพราะได้แรงหนุนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้าสะสมของผู้ใช้บริการทั้งฝั่งผู้บริโภค และร้านอาหารที่เร่งตัวขึ้นจากผลของโควิดที่ระบาดรุนแรง ความต้องการของผู้ใช้บริการที่ยังคงมีอยู่ ถึงแม้การทำงานจะปรับเปลี่ยนเป็นแบบ Hybrid Work หรือการปรับตัวของผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำโปรโมชั่น ด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังขยายฐานรายได้ในพื้นที่ใหม่ 

ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังอยู่ แต่ไม่รุนแรง คาดว่า ดัชนีจำนวนครั้งในการสั่งอาหารของผู้บริโภคจะอยู่ที่ 477 (จากฐาน 100 ในปี 2561) ขยายตัวเพิ่ม 2.9% จากในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา แต่อัตราการขยายตัวจะชะลอลง YoY ส่วนราคาหรือยอดสั่งอาหารต่อครั้ง น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราจำกัด โดยมียอดสั่งซื้อต่อครั้งเฉลี่ยที่ 193 บาท เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 190 บาท เนื่องจากการปรับขึ้นของต้นทุนของร้านอาหาร ทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหาร ต้นทุนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโควิดที่ยังมีต่อเนื่อง



สำหรับธุรกิจร้านอาหารเต็มรูปแบบ และกลุ่มร้านเครื่องดื่ม เบเกอรี่ มีโอกาสที่จะเป็นกลุ่มที่เห็นยอดขายจากแพลตฟอร์ม Food Delivery อืดขึ้น ในทางกลับกัน กลุ่มร้านอาหารแบบ Limited Service (เช่น เบอร์เกอร์ พิซซ่า ไก่ทอด เป็นต้น) และ Street food จะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าภาพรวม เพราะเป็นกลุ่มที่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารไปยังที่พักให้ความสำคัญในการทำการตลาด และขยายพอร์ตร้านอาหารบนแพลตฟอร์มของตน  



อย่างไรก็ตาม เพื่อใช้ประโยชน์จากช่องทาง Food Delivery ให้สอดรับกับสถานการณ์ ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว กำลังซื้อยังมีความเปราะบาง สวนทางสมรภูมิการแข่งขันที่ทวีความดุเดือดมากขึ้น ตามจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากรายขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเมนูอาหารที่มีความคุ้มค่า ทั้งด้านราคาและคุณภาพ การหาเอกลักษณ์ที่หาทานที่อื่นได้ยาก เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยต้องไม่ลืมบริหารและจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระแสเงินสด และมีส่วนต่างกำไรหล่อเลี้ยงกิจการอย่างสม่ำเสมอ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้