EA เตรียมขายหุ้นกู้แปลงสภาพ 3.4 หมื่นล้านบาท รองรับการเดินหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน

291 จำนวนผู้เข้าชม  | 

EA เตรียมขายหุ้นกู้แปลงสภาพ 3.4 หมื่นล้านบาท รองรับการเดินหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน


นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มบริษัทได้มีการเข้าไปร่วมทุน ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยี ในการสร้างโรงงานร่วมกับบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี ในที่สุด สามารถเดินเครื่องโรงงานผลิตแบตเตอรี่ระดับ Gigafactory ครบวงจรสุดทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ชื่อ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด  

ทั้งนี้ โรงงาน อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขนาดพื้นที่กว่า 90 ไร่ เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจร ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคุมด้วยระบบอัจฉริยะ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตต่างๆ ได้ง่าย เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต อีกทั้งมีการผสมผสานแนวคิดในการใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด ผ่านการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด 

ในเบื้องต้น โรงงานจะมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี แต่สามารถขยายกำลังการผลิตให้สูงสุดได้ถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในทันที และได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อยกระดับกำลังการผลิตให้มากถึง 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จนกลายเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ในระยะต่อไป  

ขณะเดียวกัน จะมีการคัดเลือกวัสดุคุณภาพมาใช้ในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย และยังใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิล เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ แบตเตอรี่ของอมิตายังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด

และเพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยที่เป็น New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้ขึ้นแท่นเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค กลุ่มบริษัทฯ ยังคิดไกลแบบก้าวกระโดด ด้วยการขยาย Supply Chain เพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างโรงงานผลิตสาร Electrolyte ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของเซลล์แบตเตอรี่ใช้เอง เป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน และพร้อมต่อยอดไปถึงการคิดค้นพัฒนาสูตรเอง โดยอาศัยทีม In-House R&D นำสาร Electrolyte ที่ผลิตเสร็จ มาทดสอบในเซลล์แบตเตอรี่เพื่อวัด Performance ทันที ซึ่งในที่สุดจะทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับเงินทุนที่จะใช้ในการเดินเครื่องโรงงานผลิตแบตเตอรี่ครบวงจร บริษัทฯ เตรียมขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 28 มกราคมปีหน้า ให้อนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ อายุไม่เกิน 5 ปี วงเงินไม่เกิน 900 ล้านยูโร (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) หรือเงินสกุลอื่นใดในจำนวนเทียบเท่า และพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 29 ล้านบาท จากปัจจุบัน 373 ล้าน บาท เป็น 402 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 10 สตางค์ เพื่อรองรับการใช้สิทธิ์แปลงสภาพหุ้นกู้ดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของหุ้นกู้แปลงสภาพ จะเป็นหุ้นกู้ที่ให้สิทธิ์แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทฯ (อาจเป็นหุ้นกู้มีประกัน หรือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และเป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ในรูปสกุลเงินบาท หรือสกุลเงินอื่นใดก็ได้) สามารถเสนอขายและจัดสรรหุ้นกู้แปลงสภาพ ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาจออกและเสนอขายคราวเดียวเต็มจำนวน หรือหลายคราวก็ได้ และอาจอยู่ในรูปแบบการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด (private placement) หรือเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป (public offering) โดยกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ อาจจองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นกู้แปลงสภาพด้วย

ส่วนราคาเสนอขายและอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้นั้น จะกำหนดในช่วงระยะเวลาก่อนวันออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งจะทำโดยวิธีสำรวจความต้องการซื้อ (Book Building) ขณะที่ราคาในการใช้สิทธิ์แปลงสภาพหุ้นกู้ จะกำหนดในช่วงที่มีการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ โดยอ้างอิงจากราคาตลาดของหุ้น EA ในช่วงระยะเวลาก่อนวันออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ บวกส่วนเพิ่ม (Premium) โดยระยะเวลาการใช้สิทธิแปลงสภาพ ในเบื้องต้นกำหนดไว้ประมาณ 41 วัน ภายหลังจากวันออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จนถึงประมาณ 10 วัน ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้