PTTEP คาดเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ในเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากล่าช้ามากว่า 2 ปี

336 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PTTEP คาดเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ในเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากล่าช้ามากว่า 2 ปี

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยความคืบหน้าในการเข้าพื้นที่แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ หลังจากที่มีปัญหาล่าช้าเป็นเวลากว่า 2 ปี ว่า น่าจะมีความชัดเจนในการลงนามสัญญาต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องแล้ว โดยคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาและข้อตกลงรวม 3 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงเพื่อเข้าพื้นที่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของสิ่งติดตั้งที่รัฐจะรับมอบ (Operations Transfer Agreement), ข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 (Site Access Agreement 2) และสัญญาเพื่อให้ผู้รับสัมปทานเข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อถอนในช่วงสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Asset Retirement Access Agreement) ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเข้าพื้นที่เแหล่งเอราวัณเตรียมความพร้อมในการดำเนินการติดตั้งแท่น เจาะหลุมผลิต เชื่อมต่อท่อเข้ากับระบบการผลิตกลาง ในเดือนมกราคมปีหน้าทันที

แต่ถึงแม้จะสามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ในเดือนมกราคม แต่บริษัทฯ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 24 เดือน ในการเคลื่อนย้าย และติดตั้งแท่นหลุมผลิต 8 แท่น รวมไปถีงเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ก่อนเดินหน้าเจาะหลุมผลิตกว่า 100 หลุม จึงจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ครบจากทั้ง 8 แท่น ให้ได้กำลังการผลิตขึ้นถึงระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ทั้งนี้ หลังจากสัมปทานแหล่งเอราวัณเดิมหมดอายุลง และเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิต ที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการนั้น ในระยะแรกของการผลิตก๊าซธรรมชาติ บริษัทฯ จำเป็นต้องผลิตก๊าซธรรมชาติตามศักยภาพที่ผู้รับสัมปทานก่อนหน้าคงเหลือไว้ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันปัญหาผลกระทบที่จะเกิดกับอุปกรณ์การผลิต เนื่องจากผู้รับสัมปทานหยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ระดับการผลิตลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการในการเพิ่มกำลังการผลิต จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะขั้นบันได ภายในระยะเวลา 24 เดือนข้างหน้า ดังนั้น เพื่อให้ได้กำลังการผลิตระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต บริษัทฯ เตรียมแก้ไขปัญหาด้วยการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการบงกช และโครงการอาทิตย์ เพิ่มเติมอีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อลดผลกระทบให้เบาบางลงไป 

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่า บริษัทฯ อาจต้องหารือกับภาครัฐ เพื่อขอทบทวนความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปตามสภาพการณ์ควบคู่กันไปด้วย  

การที่ PTTEP ต้องใช้เวลาเดินหน้าโครงการเอราวัณ ทำให้ยังไม่มี upside ต่อราคาหุ้นในระยะสั้นแต่อย่างใด ส่งผลให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย ตาม IAA Concencus ยังคงอยู่ที่ 145 บาท ตามเดิม


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้