แนะใช้สิทธิเพิ่มทุน AAV ฐานะการเงินลงตัว แค่รอความหวังธุรกิจฟื้น

308 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แนะใช้สิทธิเพิ่มทุน AAV ฐานะการเงินลงตัว แค่รอความหวังธุรกิจฟื้น

หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญที่ออกใหม่ จำนวนไม่เกิน 1,714.28 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท เพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) กำหนดปิดสมุดรายชื่อมีสิทธิวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา

ล่าสุด นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV ออกมาให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มทุน สรุปสาระสำคัญได้ว่า บริษัทฯ กำหนดสัดส่วนการเพิ่มทุนไว้ที่ 5.7625 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 1.75 บาท เปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 10 – 14 มกราคมที่จะถึงนี้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้เกินกว่าสัดส่วนการถือหุ้นได้ (Oversubscription) ซึ่งบริษัทฯ จะจัดส่งเอกสารแจ้งสิทธิดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อไป

ซึ่งหลังจากกระบวนการเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมแล้วเสร็จลงไป จะทำให้ AAV มีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นมาก เพราะบริษัทฯ จะสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท เมื่อนับรวมการเพิ่มทุนรอบก่อนหน้านี้ ด้วยการขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 5.028.57 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.75 บาท และออกหุ้นกู้แปลงสภาพ 2,200 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นสามัญ 1,257.15 ล้านหุ้น ที่ราคาใช้สิทธิ 1.75 บาท ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว



สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน คาดว่าจะใช้เงิน 3.9 พันล้านบาท ชำระหนี้จากการเพิ่มทุนของ บริษัท ไทยแอร์เอเซีย (TAA) และอีก 3.9 พันล้านบาทใช้ซื้อหุ้น TAA ที่เหลืออีก 30.8% เพื่อถือหุ้น TAA ให้ครบ 100% ที่เหลือ 8.2 พันล้านบาท จะถูกนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเดินหน้าธุรกิจต่อไป

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้มีการวางแผนจัดระเบียบการเงินเพิ่มเติม ด้วยการขายและเช่ากลับ (sale and leaseback) เครื่องบิน 7 ลำ คาดได้เงินอีก 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการเจรจาลดค่าเช่าเครื่องบิน ซึ่งสำเร็จไปแล้วบางส่วน และขอสินเชื่อสนับสนุนเพิ่มจากธนาคารอีก 1,000 ล้านบาท

ถึงแม้ฐานะทางการเงินของ AAV จะมั่นคงขึ้นแล้ว แต่นักลงทุนคงไม่สามารถคาดหวัง upside จากผลดำเนินงาน และราคาหุ้น AAV ในระยะสั้นได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังสร้างแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกสักระยะ  

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนัก คิดตรงกันกับค่าย ฟิลลิป ประเทศไทย (PLS) ที่บอกว่า แม้แนวโน้มผลดำเนินงานของบริษัทฯ มีโอกาสฟื้นตัวจากปี 2564 แต่ธุรกิจน่าจะยังขาดทุนต่อเนื่อง โดยเมื่อใช้ตัวเลขผู้โดยสารที่ AAV คาดไว้ว่า ปีนี้จะมีจำนวน 13.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 3 ล้านคน) หลักๆ มาจากตลาดในประเทศ แต่หากเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของไวรัส ซึ่งตัวเลขผู้โดยสารอยู่ที่ 22.1 ล้านคน ทำให้คาดว่าผลดำเนินงานจะขาดทุนราว 2,287 ล้านบาท 

ดังนั้น การประเมินมูลค่าหุ้น จึงทำได้แค่ปรับ P/BV ขึ้นเป็น 1.85 เท่า (เทียบเท่าค่าเฉลี่ย P/BV 5 ปี ย้อนหลัง+2.5 SD) ให้สอดรับกับความสำเร็จในการปรับโครงสร้างทุน ได้ราคาเหมาะสมที่ 2.60 บาท เท่ากับค่าเฉลี่ยตาม IAA Concencus  ถือได้ว่า “เต็มมูลค่า” แล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทุกค่าย จะแนะนำให้นักลงทุนที่มีสิทธิจอง RO ซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ เนื่องจากราคาเสนอขายที่ 1.75 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันที่ 2.62 บาท จึงมีความคุ้มค่าในระดับหนึ่ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้