FINNOMENA และ KGIWMR แนะแบ่งเงินลงทุนหุ้นเอเชีย และหุ้น Megatrend เด่นปีเสือ

371 จำนวนผู้เข้าชม  | 

FINNOMENA และ KGIWMR แนะแบ่งเงินลงทุนหุ้นเอเชีย และหุ้น Megatrend เด่นปีเสือ

การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ และถูกกดดันจากการเร่งเครื่องลดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ทำให้โอกาสเห็นดอกเบี้ยปรับเป็นขาขึ้นเกิดได้เร็วขึ้น ส่งผลให้กองทุนทั่วโลกจำเป็นต้องปรับพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท เพื่อรักษามูลค่าของเงินลงทุน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจมากที่สุด แต่ต้องเลือกเป็นรายกลุ่มรายตัว พุ่งเป้าไปที่หุ้นคุณภาพ หุ้นปันผล และหุ้นคุณค่า (value stocks) ที่จะได้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าว  

ซี่งเมื่อจำแนกตามภูมิภาคแล้ว จะพบว่า การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการที่ระดับราคาหุ้นปรับสู่ระดับสูงเหนือภูมิภาคอื่นๆ ปิดโอกาสทำกำไรจากการลงทุนให้มีจํากัดมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งโอกาสเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจเปิดกว้างมาก อีกทั้งระดับราคาหุ้นยังค่อนข้างสมเหตุสมผลกว่า จึงมีผลให้ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มโดดเด่นสุดในปีนี้  นำโดยตลาดหุ้นเวียดนาม ที่เศรษฐกิจยังมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตามมาด้วยตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาลชุดล่าสุด และตลาดหุ้นจีน ซึ่งมูลค่าพื้นฐานปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาด ที่มีปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนมากขึ้น และเป็น Thematic Investment หลักของโลกปัจจุบัน

แม้แต่ตลาดหุ้นยุโรป ยังน่าสนใจกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้นถึงกลาง เพราะธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) มีท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินค่อนข้างระแวดระวัง นอกจากนี้ ECB ยังพร้อมซื้อพันธบัตรนานเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาด ผ่านโปรแกรม Asset Purchase Programme หรือ APP ถึงแม้การซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเพื่อป้องกันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโปรแกรม Pandemic Emergency Purchase Programme  หรือ PEPP จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ก็ตาม ทำให้ตลาดคาดว่า จะยังไม่เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ หนุนให้หุ้นยุโรปยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อไปได้

ในทางกลับกัน ตราสารหนี้ ซึ่งปกติจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมอ กลับไม่สามารถเติบโตภายใต้บรรยากาศการลงทุนเช่นนี้ได้ จึงควรเพิ่มน้ำหนักลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น อย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ประโยชน์จากคุณสมบัติของการเป็น Inflation-hedge asset รวมถึงลักษณะของการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอแทน หรืออาจเลือกทองคำ ที่มีคุณสมบัติการเป็น Inflation-hedge asset  เช่นกัน แต่จะต้องรอจังหวะที่ทองคำปรับลงก่อนถึงค่อยซื้อสะสม  

สำหรับแนวทางจัดพอร์ตการลงทุน มีคำแนะนำจากทีมเวลท์ แมเนจเม้นท์ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI WMR) ว่า ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น 75% แบ่งเป็นหุ้นในภูมิภาคเอเชีย 25% หุ้นคุณภาพทั่วโลก 40% และหุ้นตาม Thematic Investment 10% และกระจายไปในสินทรัพย์ที่เป็น Inflation-hedge assets 10% ที่เหลือพักไว้ในตราสารหนี้ เพื่อรอจังหวะลงทุนในอนาคต



ด้านที่ปรึกษาการลงทุนแถวหน้า อย่าง ฟินโนมีน่า (FINNOMENA) แนะนำให้กระจายพอร์ตในหลากหลายสินทรัพย์มากกว่าปีก่อน โดยการจัดพอร์ตหุ้น ควรแบ่งเงินลงทุนเน้นไปที่ตลาดหุ้นเวียดนาม ญี่ปุ่น และหุ้นที่เกาะกระแส Megatend (กลุ่มเทคโนโลยี เฮลท์แคร์ และพลังงานสะอาด) เป็นหลัก สำหรับกลยุทธ์การบริหารพอร์ต มีตัวอย่างหนึ่งเรียกว่า Global Absolute Return Portfolio หรือ GAR เสนอให้กระจายพอร์ตออกไปในหุ้นทั่วโลก 15% หุ้นเกาะกระแส Megatrend 40% หุ้นจีนและเวียดนาม ในสัดส่วน 10% เท่าๆ กัน ที่เหลือ 25% กระจายไปในสินทรัพย์ที่เป็น Inflation-hedge assets



สำหรับหุ้นไทย มีการเสนอไอเดียลงทุน จากฝ่ายวิจัย บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย (KS) ว่า ให้ลองศึกษาข้อมูล 4 กองทุน ดังนี้ คือ กองทุนเปิดทาลิส MID-SMALLCAP หุ้นทุน (TLMSEQ), กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โฟกัส อิควิตี้ (M-FOCUS), กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ (TSF-A) และกองทุนเปิด ทิสโก้ ไฮ ดิวิเดนด์ หุ้นทุน (TISCOHD-A) เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุน เพราะคาดหมายว่า น่าจะสร้างผลตอบแทนปีนี้ได้ค่อนข้างโดดเด่น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้