324 จำนวนผู้เข้าชม |
การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวดเร็วขึ้น เป็นเดือนมีนาคมปีนี้ หวังเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี เร่งตัวขึ้น กดดันให้มีการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกตามมา
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MST) ได้ออกมาให้ข้อคิดนักลงทุนว่า แม้จะมีการปรับพอร์ตการลงทุนหุ้น แต่หุ้นที่เข้าข่าย “หุ้นมูลค่า” (Value Stock) มักจะปรับลงน้อยกว่า “หุ้นเติบโต” (Growth Stock) สอดคล้องตามค่าสถิติความสัมพันธ์ ระหว่าง MSCI World Value Index ที่เป็นตัวแทนของหุ้นมูลค่า และ MSCI World Growth Index ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นเติบโต เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ในอดีตที่ผ่านมา ที่ฉายภาพว่า ในปีที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนจากหุ้นมูลค่าจะสูงขึ้นตาม สวนทางกับผลตอบแทนหุ้นเติบโตที่จะปรับลง (มียกเว้นครั้งเดียว ในปี 2013 ซึ่งปีนั้น อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัวมากผิดปกติ โดยปรับขึ้นถึง 1.271% ส่งผลให้ทั้งหุ้นมูลค่าและหุ้นเติบโต ปรับลงทั้งคู่)
สำหรับบ้านเรา การที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเป็นแบบดั้งเดิม (Old Economy) จึงแทบไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed เลย ตลอดช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นหุ้นมูลค่า (Value Stock) จึงประเมินได้ว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะยังไปต่อได้ โดยมีเป้าหมายที่ 1,750 จุด ตามเดิม เมื่อตั้งสมมติฐานกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 94.20 บาทต่อหุ้น (+13%YoY) อิง P/E ที่ 18.6 เท่า เทียบเคียงระดับค่าเฉลี่ย P/E ย้อนหลัง 5 ปี บวกด้วยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (+0.5 SD)
ส่วนกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค MST แนะนำ หุ้น 5 ตัว
- หุ้นที่แนวโน้มกำไรเติบโต หรืออัตรากำไรสูงขึ้น เลือก หุ้นโรงกลั่น อย่าง SPRC (ราคาเป้าหมาย 11.20 บาท) เพราะแนวโน้มการขยายตัวของอัตรากำไรเด่นสุดในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ กับหุ้น GLOBAL (ราคาเป้าหมาย 27.50 บาท) ซึ่งแนวโน้มกำไรจะออกมาดีกว่าคาด ไม่โดนผลเชิงลบจากเงินเฟ้อ
- หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เลือก KBANK (ราคาเป้าหมาย 180 บาท)
- หุ้นที่แนวโน้มกำไรถึงจุดเร่งตัว อย่าง PLANB (ราคาเป้าหมาย 9.45 บาท) กับ OCEAN หรือชื่อใหม่ ALPHAX (ราคาเป้าหมาย 2.89 บาท)
ในทางกลับกัน กลุ่มหุ้นที่มีความเสี่ยง และต้องระมัดระวังในการลงทุน จะประกอบไปด้วย
- หุ้นเติบโต (Growth Stock) โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอิเล็คโทรนิกส์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบมากที่สุด จนทำให้ผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มนี้ (SETETRON) ปรับขึ้นถึง 379% ในปีก่อน ดังนั้น จึงย่อมได้รับผลกระทบเชิงลบมากเช่นกัน เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ
- หุ้นที่แนวโน้มกำไรอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด มีความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) คือ กลุ่มโรงแรมและกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้แนวโน้มกำไรมี Downside เพิ่ม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสกลับมายืดยืดเยื้อในไตรมาสแรก