ประชุม FED นัดแรกปี 2556 เกาะติดท่าที QT แค่คาดไม่น่ามีอะไร surprise

494 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประชุม FED นัดแรกปี 2556 เกาะติดท่าที QT แค่คาดไม่น่ามีอะไร surprise

หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี แตะระดับ 7.0% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐฯ (10 Years Bond Yield) พุ่งแตะระดับ 1.87% สร้างแรงกดดันให้มีการปรับพอร์ตลงทุนหุ้นทั่วโลกตาม จนหุ้นปรับลงเฉลี่ย 2.2% โดยหุ้นตลาดเกิดใหม่ (EM) ปรับฐาน 1.4% ขณะที่หุ้นกลุ่มพัฒนาแล้ว (DM) ทรุดลง 2.3% พร้อมกับสร้างคำถามตามมาว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 26-27 มกราคมนี้ จะมี surprise อะไรตามมาหรือไม่  

ล่าสุด เมื่อสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยหลายสำนัก เสียงส่วนใหญ่จะออกมาตรงกับฝ่ายวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) และ บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป ประเทศไทย (PLS) ที่คาดหมายว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่น่าส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคม เหมือนที่เคยส่งสัญญาณให้ตลาดรู้ในปลายปีก่อน เพื่อรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งจากประเด็นความเสี่ยงของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแพร่ระบาดของโควิด และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานโลก 

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลการประชุมครั้งต่อไป (ในเดือนมีนาคม) ซึ่งตลาดคาดว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก รวมถึงการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจ และประมาณการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ในการะประชุมรอบนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อประเมินว่า Fed จะมีการปรับจุดยืนในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ จาก 3 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง อย่างที่มีนักเศรษฐศาสตร์ และนักการเงินบางค่ายคาดหมายเอาไว้หรือไม่

โดยประเด็นชี้ขาดจะอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง Fed อาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพิ่มเป็น 4 ครั้ง แต่หากประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจมีน้ำหนักมากขึ้น น่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แค่ 3 ครั้ง

สำหรับผลต่อตลาดหุ้น ค่าย PLS และ SCBS เชื่อว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ แต่ต้องติดตามมุมมองประธาน Fed ต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า ในการประชุมครั้งนี้ Fed น่าจะพูดคุยกันถึงกำหนดการขึ้นดอกเบี้ยของปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม

พร้อมกันนั้น มีการคาดหมายด้วยว่า อาจเห็นเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวหลังจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป ทำให้ Fed ไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากอย่างที่ตลาดกังวล

ส่วน SCBS เสริมให้ติดตามว่า Fed จะมีแผนชัดเจนในการดูดซับสภาพคล่อง (ทำ QT) หรือไม่ หากมี surprise ว่าจะทำ QT เร็วและแรงกว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี พุ่งเกิน 2.0% ทำให้ตลาดปั่นป่วนได้

ทั้งนี้ มีการคาดหมายตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ส่งท้ายเดือนแรกของปี ว่า น่าจะแกว่งตัวออกข้าง (sideway) ในกรอบ 1,640 – 1,670 จุด เพราะเชื่อว่าการอ่อนตัวของตลาดช่วงก่อนหน้านี้ น่าจะตอบรับการเร่งตัวขึ้นของ Bond Yield และดอกเบี้ยไปมากแล้ว ดังนั้น เมื่อภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการ คาดจะช่วยหนุนหุ้นเปิดเมือง และกลุ่มท่องเที่ยวให้ทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสแรกเป็นต้นไป เช้ามาช่วยหนุน sentiment

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนสัปดาห์ใหม่นี้ แนะเก็งกำไรหุ้นใน Theme หุ้นเปิดเมืองและท่องเที่ยว กับหุ้นได้ประโยชน์จาก EV  และควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งลงทุนหุ้นปลอดภัย และหุ้นปันผลเด่น เพื่อลดความเสี่ยงในช่วง Fund Flow ไหลออก

ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาท K-Research ชี้ว่า หาก Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณแข็งกร้าว (hawkish) เพิ่มเติมในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์นี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนเท่าใดนัก ขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุม และมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนแนวโน้มเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น

ในทางกลับกัน หาก FED ส่งสัญญาณ hawkish มากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตอย่างร้อนแรง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะทยอยแข็งขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยอาจยังมีไม่มากนัก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีความเปราะบาง และอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้