CIMBT ประกาศเป้าหมายก้าวเป็นธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

416 จำนวนผู้เข้าชม  | 

CIMBT ประกาศเป้าหมายก้าวเป็นธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยกลยุทธ์ของธนาคารประจำปีนี้ ว่า จะมุ่งเน้นโซลูชั่นทางการเงินอย่างยั่งยืน เพื่อตอบความต้องการลูกค้าอย่างตรงจุด โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอาเซียนและ digital platform ภายใต้กลยุทธ์ Forward 23+ เพื่อก้าวเป็น “ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล”

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์  Forward 23+ จะขับเคลื่อนให้เติบโตผ่านธุรกิจ 3 แกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย (Consumer Banking) ธุรกิจรายใหญ่ (Wholesale Banking) และธุรกิจบริหารเงิน (Treasury and Markets)

โดยธุรกิจรายย่อย – ธนาคารจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาฐานข้อมูล ขยายการเข้าถึงและขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งเห็นผลสำเร็จมาแล้วจากการให้บริการแอป CIMB THAI Digital Banking ในปีก่อน เพราะมีความสะดวกสบาย ง่าย และราบรื่น โดยปีนี้ จะเน้นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ สปีดดี (Speed D) และสปีดดี พลัส (Speed D+)  ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะสด ใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ธนาคารยังปักธงเป็นผู้นำตลาดธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) ผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ ”Wealth Credit Line” และการจองซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรผ่านแอปมือถือ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ลูกค้าให้การตอบรับการเปิดให้จองซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรตลาดแรกผ่าน CIMB THAI Digital Banking ดีเกินคาด ทำให้ธุรกรรมเติบโตรวดเร็ว สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อ digital wealth platform ที่ธนาคารสร้างขึ้น จึงพร้อมเดินหน้าเพิ่มบริการจองซื้อหุ้นกู้ตลาดรองเพิ่มเติมในแอป CIMB THAI Digital Banking เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง




สำหรับการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ลูกค้ารายย่อย ที่เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของ CIMBT ธนาคารจะขยับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรีไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ประสบความสำเร็จจากการเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลักที่ลูกค้านึกถึง ก้าวถัดไปคือขยับเข้าดิจิทัล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้บริการโดยบริษัทลูก ได้แก่ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ และบริษัท เวิลด์ลีส ตามลำดับ จะประสานพลังการทำงานระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรและคู่ค้า ตลอดจนใช้ประโยชน์จากดิจิทัลมากขึ้น

ธุรกิจรายใหญ่ – ธนาคารจะเดินหน้าสนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ ด้วยการเพิ่มคุณค่าให้บริการทางการเงินในระยะยาว อย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายในอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบีที่แข็งแกร่ง มาสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนให้แข็งแรงขึ้น ค้นหาพันธมิตรรายใหม่ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกกว้างขึ้น เพิ่มโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตในตลาดต่างประเทศ 

ธุรกิจบริหารเงิน – ธนาคารจะรักษาสถานะผู้นำตลาดของการเป็นผู้ออกผลิตภัณฑ์และผู้จัดจำหน่าย โดยเฉพาะธุรกิจ Treasury ซึ่งในปีที่ผ่านมา ธนาคารเป็นผู้เล่นหลักในการกำหนดตลาด และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) และได้รับรางวัล THOR Pioneer จากธนาคารแห่งประเทศไทย ปีนี้ ธนาคารจะขยายธุรกิจ Treasury เติบโตต่อเนื่องทั้งกลุ่มลูกค้า wealth รายย่อย และกลุ่มลูกค้า wealth รายใหญ่ โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยขยายธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการจัดจำหน่าย และปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ธนาคารจะเพิ่มเติมรายได้ใหม่ๆ อาทิ รายได้อัตราแลกเปลี่ยนจากการชำระเงินและการโอนเงินข้ามพรมแดน และบริการคัสโตเดียน

สำหรับผลดำเนินงานในรอบปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ธนาคารมีกำไรสุทธิ 2,440.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท ขยายตัว 89.1% จากปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักจากการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 8.1% ผลขาดทุนด้านเครดิตลดลง 25.7% ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) อยู่ที่ 7.9 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.7% ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่อยู๋ในระดับ 4.6% ถึงแม้รายได้จากการดำเนินงานจะลดลง 3.9% ก็ตาม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้