สถิติในอดีตบ่งชี้ ทองคำมักฟื้นตัวหลัง FED เริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก

398 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถิติในอดีตบ่งชี้ ทองคำมักฟื้นตัวหลัง FED เริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หวังกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในรูปแบบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำถึงติดลบ รวมถึงอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ (Q.E.) ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูง และเม็ดเงินเหล่านั้นก็หลั่งไหลเข้าไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนในตลาดหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงทองคำด้วย 

แต่กับภาพปัจจุบัน เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูง จนแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี ดังนั้น เมื่อสถานการณ์ "เปลี่ยน" ก็มีผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณ "เปลี่ยน" การดำเนินนโยบายการเงินจากผ่อนคลายจึงพลิกกลับเป็นเข้าสู่ภาวะปกติ 

ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ถือว่าเป็นธนาคารกลางขนาดใหญ่อีกแห่งที่ส่งสัญญาณว่า จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงเตรียมเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในปีนี้ด้วย หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เตรียมยุติโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ ภายในไตรมาสแรกปีนี้เช่นกัน 

ซึ่งท่าทีของ FED ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดสินทรัพย์ทุกประเภททั่วโลก โดยเฉพาะทองคำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดแรงเทขายพันธบัตรระยะยาวจากนักลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็มีผลให้ต้นทุนในการถือครองทองคำสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะทองคำไม่ให้ดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนในการถือครอง ราคาทองคำจึงได้รับผลกระทบเชิงลบตามมา นอกจากนี้ การขายสินทรัพย์ยังหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็ง และกดดันระดับราคาทองคำในอีกทางหนึ่ง

จากสถิติในอดีต จะเห็นได้ชัดว่า ในช่วงที่ FED ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทองคำจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างที่เกิดในปี 2009-2011 และช่วงปี 2020 ในทางกลับกัน เมื่อ FED ยุติการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงิน ราคาทองคำจะถูกกดดันเช่นกัน อย่างที่เกิดในช่วงปี 2013-2018 ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของ FED ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กับทองคำ มักเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกัน ดังนั้น นักลงทุนทองคำต้องระมัดระวังการอ่อนตัวลงของราคาในระยะสั้นๆ นี้

อย่างไรก็ดี  นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลียน แอนด์ ฟิวเจอร์ส (YLG) ไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนก เพราะสถิติบอกต่ออีกว่า ราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของ FED มากที่สุดในช่วงก่อนดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงิน แล้วจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจาก FED เริ่มขึ้นดอกเบี้ย



ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (World Gold Council - WGC) บ่งชี้ว่า ในรอบวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยของ FED 4 ครั้งล่าสุด คือ เดือนกุมภาพันธ์ 1994, เดือนมิถุนายน 1999, เดือนมิถุนายน 2004 และเดือนธันวาคม 2015 จะพบว่า แม้ราคาทองคำจะตอบสนองเชิงลบล่วงหน้าต่อการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยราคาทองคำจะให้ผลตอบแทน -6.81% ในช่วง 6 เดือนก่อน FED เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก แต่ราคาทองคำมักฟื้นตัวหลัง FED เริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก โดยราคาทองคำจะให้ผลตอบแทน +11.34% ในช่วง 6 เดือนหลัง FED เริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก และให้ผลตอบแทน +7.62% ในช่วง 1 ปีหลัง FED เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก


ดังนั้น การปรับนโยบายการเงินของ FED กลับสู่สภาวะปกติ ทั้งในแง่ของการลด QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนทองคำจะต้องระมัดระวังแรงขายที่อาจสลับออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดกำลั ง Price in กับการคาดหมายว่า FED จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ กระนั้น YLG ยังเชื่อว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินในครั้งนี้ อาจสร้างแรงกดดันต่อทองคำในระดับที่น้อยกว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินในอดีต เนื่องจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันยังมีปัจจัยบวกต่อราคาทองคำอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเงินเฟ้อพุ่งระดับสูง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้