PTC เคาะราคา IPO ที่ 3.50 บาท เปิดจอง 4-8 ก.พ. นี้ คาดซื้อขายวันแรกในตลาด mai 15 ก.พ.นี้

692 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PTC เคาะราคา IPO ที่ 3.50 บาท เปิดจอง 4-8 ก.พ. นี้ คาดซื้อขายวันแรกในตลาด mai 15 ก.พ.นี้

นางจารีรัตน์ บุลสุข กรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันซ่า จำกัด (FNS) ในฐานะผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บมจ. พรีเมียร์ แทงค์ คอร์ปอเรชั่น (PTC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ร่วมกับ บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS), บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ (ASW) และ บยมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 110 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 3.50 บาท จากราคาพาร์ 50 สตางค์ ระหว่างวันที่ 4 -8 กุมภาพันธ์นี้  คาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ mai  ในวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์นี้  

ทั้งนี้ ราคา IPO ที่ 3.50 บาท ถือได้ว่าสอดรับกับปัจจัยพื้นฐานของ PTC ที่ทำธุรกิจให้บริการรับ เก็บ และจ่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป ประเภทเบนซิน และดีเซล ผ่านคลังน้ำมัน 2 แห่ง คือ คลังขอนแก่น (ขนาดพื้นที่คลัง 37 ไร่ ให้บริการกลุ่มลูกค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีความสามารถจ่ายน้ำมันได้สูงสุดปีละ 1,400 ล้านลิตร) และคลังศรีสะเกษ (ขนาดพื้นที่คลัง 74 ไร่ ให้บริการกลุ่มลูกค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีความสามารถจ่ายน้ำมันได้สูงสุดปีละ 770 ล้านลิตร) และให้บริการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอินไลน์ (Inline Fuel Blending) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามสูตรที่ลูกค้าต้องการ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันแต่ละราย

ด้านนายวีรวัฒน์ บูรพพัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTC ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ว่า ต้องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพการรับ เก็บ และจ่ายน้ำมัน ครอบคลุมไปถึงการเชื่อมโยงการส่งมอบพลังงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายไปในภูมิภาคอื่น ตลอดจนสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน, โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, โรงไฟฟ้าขยะ และโซลาร์ เพื่อกระจายฐานรายได้ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

นอกจากนี้ PTC มีแผนจะก่อสร้างจุดรับน้ำมันทางรถไฟที่คลังศรีสะเกษ เพื่อเพิ่มช่องทางในการขนส่งน้ำมันให้กับลูกค้า นอกเหนือจากการให้บริการทางรถบรรทุกเพียงทางเดียว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันให้กับลูกค้าได้ดีขึ้น และเอื้อต่อการเติบโตของบริษัทฯ ตามมาในระยะยาว

ขณะที่นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวถึงจุดแข็งของบริษัทฯ ว่า มีประสบการณ์ในธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และรถขนส่งน้ำมันกว่า 20 ปี ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการสายโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของผู้ค้าน้ำมันภายในประเทศเป็นอย่างดี ช่วยให้สามารถกำหนดที่ตั้งในการก่อสร้างคลังน้ำมัน เพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการกระจายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับสถานีบริการน้ำมัน ครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีฐานการตลาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองแค่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง ดูได้จากกำไรสะสมที่สูงถึง 250 ล้านบาท  ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ก่อนระดมทุนอยู่ที่ 0.47 เท่า และน่าจะลดต่ำมากหลังการระดมทุน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดขยายธุรกิจได้อีกมาก เพิ่มศักยภาพในการเติบโตทางธุรกิจให้สูงขึ้น
 
สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้ และกำไร 166.3 ล้านบาท และ 72.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 11.13% และ 8.98% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์ลดลง ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันชะลอตัวตามไป อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกปีที่แล้ว กลับปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 43.33% เพราะบริษัทฯ สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้