MTC ยังมั่นใจ ปีนี้เห็น New-Hi แม้ผลดำเนินงานปีก่อนจะหดตัว 5% จนถูกหั่นราคาเป้าหมาย

445 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MTC ยังมั่นใจ ปีนี้เห็น New-Hi แม้ผลดำเนินงานปีก่อนจะหดตัว 5% จนถูกหั่นราคาเป้าหมาย

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เปิดเผยว่า พอใจกับภาพรวมผลดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ถึงแม้กำไรสุทธิจะลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย 5.17% เหลือ 4,945 ล้านบาท เพราะบริษัทฯ ยังคงควบคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.39% เท่านั้น ขณะที่พอร์ตสินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่อง 29.37% เป็น 91,812 ล้านบาท ทั้งที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่มีความดุเดือดมากขึ้น   

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดบัญชีทั้งปี ในอัตราหุ้นละ 0.37 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 28 เมษายน ก่อนจ่ายจริงวันที่ 17 พฤษภาคม

โอกาสนี้ นายชูชาติ ย้ำถึงแผนงานปีนี้ด้วยว่า ยังคงตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท เหมือนเดิม แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจหลัก คือ เมืองไทย แคปปิตอล ที่มุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่ดิน เสริมด้วยธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาใหม่ 2 ธุรกิจ คือ เมืองไทยลิสซิ่ง (MTLS) และเมืองไทย เพย์ เลเทอร์ (MTPL) 

โดย MTLS จะให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วน MTPL จะให้บริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง สำหรับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องใช้และของใช้ในบ้าน และคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำตลาดครอบคลุมทั้งลูกค้าเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และการขยายฐานลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการใช้บริการ ผ่านสาขาที่มีกว่า 5,800 สาขา กระจายทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดสาขาใหม่อีกปีละ 700 สาขา

ประธานกรรมการบริหาร MTC ยังให้ความมั่นใจผู้ถือหุ้นด้วยว่า จะเห็นการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินเชื่อกลับมาเติบโตได้ดี อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากการเปิดบริการธุรกิจใหม่ เพิ่มความหลากหลายของสินเชื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ช่วยผลักดันสินเชื่อเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จนสร้างสถิติสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนเติบโตในอีก 4 ปี ข้างหน้า คือปี 2569 บริษัทฯ วางเป้าพอร์ตสินเชื่อทะลุ 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีนี้ ซึ่งการจะก้าวสู่เป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ ต้องรักษาอัตราการเติบโตให้ได้ ปีละ 20-25% ตลอด 4 ปี รวมทั้งควบคุมหนี้เสียไม่เกิน 2% และกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม

สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการตั้งสำรอง ว่าจะกดดันการฟื้นตัวของกำไรปีนี้ตามมาได้ จึงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

ค่ายหยวนต้า (YUANTA) บอกว่า MTC ยังมีแรงกดดันจากผลดำเนินงานไตรมาส 4 ที่อ่อนแอกว่าตลาดคาด อีกทั้งกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของ Asset Yield คงต้องรอดูผลในไตรมาส 2 เป็นต้นไป ตามสัดส่วนของสินเชื่อกลุ่ม High Yield ที่จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ จึงแนะนำเพียง "Trading" จนกว่าจะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นของ Asset Yield และการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผลดำเนินงานทั้งปีของ MTC ยังมีโอกาสฟื้นตัวสูง ขับเคลื่อนโดยการเร่งขยายสินเชื่อที่เริ่ม Aggressive มากขึ้น หลังเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณเชิงบวกมากกว่าปีก่อน โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือหนึ่ง (ดอกเบี้ยราว 22% สูงกว่า ค่าเฉลี่ยของพอร์ตที่ 18.5%) รวมถึงสินเชื่อกลุ่มเช่าซื้อ (Buy Now Pay Later) ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ Asset Yield ของบริษัทเริ่มพลิกกลับมาปรับขึ้นในไตรมาส 2

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังคงแผนเปิดสาขาใหม่อีก 600 สาขา เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการให้บริการ ขณะที่การตั้งสำรองคาดจะเริ่มปรับตัวลง เนื่องจากระดับ Coverage Ratio เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูง และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่า MTC จะทำกำไรสุทธิปีนี้ได้ 6,131 ล้านบาท กลับมาขยายตัว 24%YoY คิดเป็นราคาพื้นฐาน 62 บาท

ด้านฟิลลิป (PLS) สรุปประเด็นว่า ถึงแม้รายได้ดอกเบี้ย และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของ MTC จะเพิ่มสูงขึ้น แต่การตั้งสำรอง และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรปีที่แล้วลดลง ดังนั้น จึงปรับประมาณการกำไรปีนี้ลงมาจาก 6.4 พันล้านบาท เหลือ 5.9 พันล้านบาท เนื่องจากการตั้งสำรองอาจสูงกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ต้องปรับลดราคาพื้นฐานลงมาจาก 70.50 บาท เหลือ 66.50 บาท

อย่างไรก็ตาม ประมาณการกำไรที่ปรับใหม่นี้ ยังมีการฟื้นตัวจากปีก่อน 20.3% YoY ประกอบกับราคาหุ้นมีส่วนต่างที่ยังเปิดกว้างอยู่ จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ”

ส่วนเคจีไอ (KGI) ชี้ว่า การที่ผลดำเนินงานของ MTC อ่อนแอตลอดปี 2564 โดยเฉพาะในไตรมาส 4 อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์แย่ลงด้วย และเนื่องจากมีส่วนรองรับหนี้เสียน้อย โดยสัดส่วน NPL coverage อยู่ที่ 151% และสัดส่วน LLR / สินเชื่อ อยู่ที่ 2% เท่านั้น หาก NPL เพิ่มขึ้น จะทำให้ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงปรับลดประมาณกำไรช่วง 2 ปีนี้ (2565 และ 2566) ลง 6% และ 4% ตามลำดับ ตามการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรองฯ และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ส่งผลให้ต้องปรับราคาพื้นฐานใหม่ เป็น 62.50 บาท อิงสมมติฐาน P/E 21.5 เท่า เทียบเท่า -1SD ของค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาว และคงคำแนะนำ "ถือ"

ขณะที่เอเซีย พลัส (ASPS) ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 - 66 ลงเฉลี่ย 15% เพื่อให้สะท้อนการปรับเพิ่มสมมติฐาน Cost to Income และปรับลดสมมติฐานรายได้ค่าธรรมเนียมลง ส่งผลให้หลังปรับประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ คาดกำไรจะพลิกกลับมาเติบโต 4% YoY สะท้อนการฟื้นตัวของธุรกิจหลักที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด คิดเป็นราคาพื้นฐานที่ 52 บาท พร้อมปรับลดคำแนะนำ จาก "ซื้อ" เป็น "เปลี่ยนตัวเล่น (Switch)"
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้