KCE เริ่มฟื้น หลังดิ่งหนักกว่า 30% ในรอบ 2 เดือน แม้จะยังมีคำถามเรื่องสายการผลิต

517 จำนวนผู้เข้าชม  | 

KCE เริ่มฟื้น หลังดิ่งหนักกว่า 30% ในรอบ 2 เดือน แม้จะยังมีคำถามเรื่องสายการผลิต

แรงกดดันจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทำจุดสูงสุดในรอบ 40 ปี จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับลดขนาดงบดุล กลายเป็นปัจจัยลบที่ทำให้นักลงทุนสถาบันปรับพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้น มีการโยกเงินลงทุนจากหุ้นเติบโต (Growth stock) มาเป็นหุ้นคุณค่า (Value stock) แทน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ถูกเทขายออกมามากที่สุด จนราคาหุ้นหลายตัวปรับฐานลงกว่า 30% เห็นได้ชัดในกรณีของหุ้น บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE)

การปรับฐานของหุ้น KCE ระลอกสองเกิดตามมา หลังจากบริษัทฯ ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ออกมาว่า มีกำไรสุทธิ 701 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) 84% และขยายตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) 16% แต่หากตัดรายการพิเศษออกไป จะมี กำไรปกติ 646 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 9%

ถัดจากนั้น นายพิธาน องค์โฆษิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KCE ออกมาชี้แจงผ่านเวทีประชุมนักวิเคราะห์ว่า การที่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) อ่อนแอ เหลือ 25.3% เกิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะทองแดง ขณะที่การติดตั้งเครื่องจักรใหม่ที่ลาดกระบัง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไม่ทำกำไร เนื่องจากเกิดปัญหาด้านเทคนิคทำให้เกิดของเสียมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ กำลังมุ่งเน้นไปที่การซ่อมเครื่องจักร พร้อมเจรจากับผู้ขายเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งคาดว่าปัญหาทางเทคนิคจะได้รับการแก้ไขภายในไตรมาสแรกนี้ ขณะที่เครื่องจักรใหม่ที่ติดตั้งที่ KCE Technology ในอยุธยา จะเริ่มเดินเครื่องปลายเดือนนี้ โดยคาดว่าจะมีปัญหาน้อยกว่าเครื่องแรก 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องเลื่อนการเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะอีกครั้ง จากไตรมาส 4 ปีนี้ ออกไปเป็นไตรมาส 2 ปีหน้า

ประเด็นดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ มีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มการเติบโตของกำไรของบริษัทฯ เพราะปัญหาด้านเทคนิคของเครื่องจักรใหม่ส่งผลเสียต่อ KCE สองประการ ประการแรก การที่เครื่องจักรใหม่ไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น นำไปสู่ GPM ที่ลดลง และประการที่สอง การแก้ไขปัญหาของเครื่องจักรที่ลาดกระบัง ทำให้เกิด ความล่าช้าในการติดตั้ง และเปิดสายการผลิตใหม่ที่อยุธยา รวมถึงความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เกิดผลกระทบต่อสมมติฐานกำไร และราคาเหมาะสม จนทำให้มีแรงเทขายกดราคาหุ้นในรอบ 1 สัปดาห์ล่าสุดดิ่งตัวลงเกินกว่า 17% ก่อนจะฟื้นตัวได้บ้าง เมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยเงินบางส่วนไหลเข้าหุ้น KCE ซึ่งราคาหุ้นมี upside เปิดกว้างมากขึ้น ถึงแม้จะถูกปรับลดประมาณการกำไร และราคาเหมาะสมลงมาแล้วก็ตาม โดยมีค่าเฉลี่ยตาม IAA Concencus อยู่ที่ 77 บาท

ซึ่งการฟื้นตัวของราคาหุ้น KCE มีทั้งที่เป็นการเก็งกำไรระยะสั้น และบางส่วนส่อเค้าว่า เป็นการทยอยซื้อสะสมในจังหวะเวลาที่ราคาหุ้นถูก เพราะแนวโน้มการเติบโตของกำไรไม่ได้ย่ำแย่จนเกินไป 

โดยกสิกรไทย (KS) ปรับลดคำแนะนำจาก "ซื้อ" เป็น "ถือ" เนื่องจากมองเห็นความไม่แน่นอนในการเริ่มดำเนินการเครื่องจักรใหม่ ซึ่งอาจขยายผลกระทบด้านลบต่อ GPM ในอีก 1-2 ไตรมาสข้างหน้า จึงปรับราคาเหมาะสมลงจาก 93 บาท เหลือ 70 บาท เพื่อให้สอดรับกับการปรับลดประมาณการกำไร และตัวคูณมูลค่าที่ลดลง ยิ่งไปกว่านั้น ยังลด PER เป้าหมายจาก 28.7 เท่า (+1SD) ลงมาเป็น 25 เท่า (+0.5SD) เพื่อสะท้อนความคาดหวังของตลาดที่ลดลง และแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ลดลง 

ส่วนโนมูระ พัฒนสิน (CNS) แนะนำ "Trading Buy” สำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้เกิน 6 เดือน หรือนักลงทุนที่ชื่นชอบการเก็งกำไรรายวัน เพราะการปรับฐานของราคาหุ้นสัปดาห์เดียวมากถึง 17% น่าจะสะท้อนปัจจัยลบในระดับหนึ่งแล้ว และหากย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนธันวาคม จะเห็นว่า ราคาหุ้นทรุดตัวลงมากถึง 30% สะท้อนปัจจัยลบเรื่องการปรับพอร์ตให้สอดรับกับการเร่งตัวของเงินเฟ้อได้สมเหตุสมผลแล้ว

แต่หากต้องการลงทุนเพียง 1-3 เดือน แนะนำให้ "หลีกเลี่ยงไปก่อน” เพราะเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาทางเทคนิคของเครื่องจักรใหม่ในโรงงานลาดกระบัง และอยุธยา จะยังส่งผลลบต่อแนวโน้มผลดำเนินงานในครึ่งปีแรก จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิ 2 ปีนี้ลงจากเดิม 16% และ7% ตามลำดับ พร้อมกับปรับลดมูลค่าพื้นฐานลง จาก 97 บาท เหลือ 74 บาท เมื่อปรับลด P/E เป้าหมายจาก 36 เท่า (mean+1SD) เป็น 33 เท่า (mean)

นอกจากนี้ ยังให้กรอบ downside ของราคาเหมาะสมเพิ่มเติม แยกเป็น 2 กรณี กรณีแรก กำไรครึ่งปีแรกออกมาต่ำกว่าคาด 15% และลด P/E เหลือ 30 เท่า (mean-1SD) จะมีผลให้ราคาปรับลงมาเหลือ 60 บาท และกรณีที่สอง เมื่อลด P/E เหลือ 20 เท่า เท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ไม่มีกระแส work from home ทำให้นักลงทุนสนใจหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ไม่มาก จะได้ราคาเหมาะสมที่ 45 บาท

ขณะที่ฟิลลิป (PLS) บอกว่า ปัญหาการผลิตเป็นปัจจัยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตให้เพิ่มขึ้น และกดอัตรากำไรขั้นต้นให้ลดลงตามมา แม้บริษัทฯ จะสามารถปรับราคาขายเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะชดเชยได้ทั้งหมด ทำให้ปรับลดประมาณการกำไรลงจากเดิม โดยคาดยอดขายที่ 562 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 12% YoY พร้อมกับปรับลดกำไรสุทธิลง 11% จากเดิม เหลือเพียง 3,052 ล้านบาท ขยายตัว 26% YoY  จะได้ราคาเหมาะสมใหม่ที่ 72 บาท อิง P/E ที่ 28 เท่า และแนะนำ "ทยอยซื้อ" จากราคาหุ้นที่ปรับลงรับข่าวร้ายที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับลดประมาณการลงแล้ว

ส่วนหยวนต้า (YUANTA) ปรับลดประมาณการกำไรสองปีนี้ (2565 และ 2566) ลง 13% และ 9% ตามลำดับ เพื่อให้สะท้อนความล่าช้าของการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำ "ซื้อ" อิงราคาเหมาะสมสิ้นปีนี้ ที่ 82.50 บาท อิง PER Band 35.0 เท่า (+1.0SD) เพราะราคาหุ้นที่ปรับลดลง 17% หลังประกาศงบไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ถือได้ว่าสะท้อนความล่าช้าของแผนเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ไปแล้ว

เช่นเดียวกับคันทรี่ กรุ๊ป (CGS) ที่บอกว่า ราคาหุ้นที่ลดลงสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการเลื่อนเดินเครื่องโรงงานใหม่ไปแล้ว ซึ่งถือเป็นประเด็นในระยะสั้น จึงอาจกลายเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสม เพราะยังมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพระยะยาวของ KCE

อย่างไรก็ตาม มีการปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลง 7% เพื่อให้สอดรับกับการที่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น โดนตั้งสมมติฐาน GPM ลดลง 1.8 ppts เป็น 27.7% ต่ำกว่าตัวเลขที่ผู้บริหารคาดการณ์ไว้ที่ 30% เพราะเชื่อว่าการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นเร็วพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายเบื้องต้นจากโรงงานใหม่ ในลาดกระบังและอยุธยา ที่เลื่อนกำหนดการเดินเครื่องได้ ขณะที่ปรับเพิ่มการเติบโตของรายได้ขึ้นเล็กน้อย 3.3% YoY จากฐานที่ต่ำ แต่สอดคล้องกับแนวทางของผู้บริหารที่คาดตลาด PCB จะโตอย่างรวดเร็วจากอุปสงค์ในกลุ่ม IoT คลาวด์และโลก metaverse

ส่วนประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ปรับเพิ่ม 6% YoY จากศักยภาพที่ดีขึ้น และยังปรับเพิ่มรายได้ขึ้น 3.7% เพราะเชื่อว่าโรงงานลาดกระบังจะเดินเครื่องเต็มที่ คาด GPM จะโตเป็น 30.5% เพราะประเมินว่า บริษัทฯ จะปรับเพิ่มราคาขายเฉลี่ย PCB ได้ 

ทั้งนี้ การปรับประมาณกำไรดังกล่าว ทำให้ต้องปรับลดมูลค่าพื้นฐานของ KCE ลง 7% เป็น 95.8 บาท อิง P/E 38.4 เท่า หรือ +1SD ต่อค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่ยังคงแนะนำ "ซื้อ" 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้