โบรกประสานเสียง CHAYO สามารถสร้าง New All Time ปีนี้ได้ต่อเนื่อง หนุนโดยการซื้อหนี้เสีย และการรุกปล่อยสินเชื่อ

797 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โบรกประสานเสียง CHAYO สามารถสร้าง New All Time ปีนี้ได้ต่อเนื่อง หนุนโดยการซื้อหนี้เสีย และการรุกปล่อยสินเชื่อ

หลังจาก บมจ. ชโย กรุ๊ป (CHAYO) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปีก่อนที่ 49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แต่ลดลง 32% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น YoY จากขนาดกองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น 75% และสินเชื่อเงินให้กู้ยืมที่ขยายตัวก้าวกระโดด และรับรู้กำไรจากการขายทรัพย์ NPA ขนาดกลาง ขณะที่กำไรสุทธิ 4Q21 หดตัว QoQ จากกำไรจากการขายทรัพย์ NPA ที่ลดลง และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล

สำหรับผลดำเนินงานรวมทั้งปี บริษัทฯ ยังสามารถทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้และกำไรสุทธิที่ 740 ล้านบาท และ 222 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 50% และ 43% ตามลำดับ

โอกาสนี้ นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ชี้แจงเพิ่มเติมกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายสำนักถึงแผนธุรกิจปีนี้ด้วยว่า หากไม่นับรวมการจัดตั้ง JV ร่วมกับสถาบันการเงิน บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีงบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถซื้อหนี้มาบริหารได้ราว 10,000 – 12,000 ล้านบาท เพราะเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ พร้อมรุกธุรกิจปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท

ซึ่งนักวิเคราะห์ที่ได้รับฟังแผนธุรกิจ ตีความคล้ายๆ กันว่า บริษัทฯ น่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการเติบโตของรายได้และกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง (New All Time)

โดยหยวนต้า (YUANTA) บอกว่า ในเบื้องต้นคาด CHAYO จะทำกำไรสุทธิปีนี้ได้ 291 ล้านบาท ขยายตัว 32.8% จากปีก่อน ขับเคลื่อนโดยการแผนลงทุนซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารจัดการ ทั้งที่บริษัทฯ ดำเนินการเอง ด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 1,500 ล้านบาท และผ่าน CHAYO JV ที่ตั้งเป้าลงทุนซื้อหนี้เสียเพิ่มอีก 1,500 ล้านบาท เน้นหนี้ที่มีหลักประกันประเภทอาคารและที่ดินเป็นหลัก (ใกล้เคียงกับ BAM) ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น หนุนให้ลูกหนี้ภายใต้การบริหารจัดการมีศักยภาพในการชำระหนี้ได้สูงขึ้นจากปีก่อน สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน เช่นเดียวกับธุรกิจติดตามหนี้ที่คาดจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว หลังจากชะลอตัวมานาน 2 ปี จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด

ส่วนธุรกิจปล่อยสินเชื่อ บริษัทฯ ตั้งเป้าขยายสินเชื่อเพิ่มจาก 300 ล้านบาทในปีก่อน เป็น 1,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น โดยมีแผนร่วมกับ COM7 ในการให้สินเชื่อสินค้าไอทีสำหรับนิสิตนักศึกษา

สำหรับประเด็นที่ ธปท. เปิดช่องให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ และธนาคารร่วมกันจัดตั้งบริษัทบริหารหนี้เสียร่วมกัน (JVAMC) ในระยะยาว จากการพูดคุยกับผู้บริหาร CHAYO ได้รับคำยืนยันว่า บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคาร 3 แห่ง เป็นธนาคารเอกชน 2 แห่ง และธนาคารรัฐ 1 แห่ง โดยคาดว่า อาจมีความคืบหน้าในไตรมาสแรกนี้ 1 ราย ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง จะเป็น upside ต่อประมาณการกำไรของบริษัท

ค่ายสีฟ้ารายนี้ สรุปประเด็นว่า CHAYO ถือเป็นหุ้น AMC ที่มีศักยภาพเติบโตน่าสนใจ และได้ประโยชน์จากการที่สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มทยอยนำหนี้เสียมาเปิดประมูลขายมากขึ้น อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตจากการตั้ง JVAMC ร่วมกับสถาบันการเงิน ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมี upside เกือบ 40% จากมูลค่าพื้นฐานสิ้นปีที่ 16.70 บาท จึงแนะนำ “ซื้อ”

ด้านเคทีบี ประเทศไทย (KTBST) แนะนำ “ซื้อ” เช่นกัน เพราะคาดผลดำเนินงานปีนี้จะเติบโตดีต่อเนื่อง โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 350 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 60% หนุนโดยการเข้าซื้อหนี้เสียของบริษัท และ JV เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านบาท โดยเฉพาะการเข้าซื้อหนี้เสียไม่มีหลักประกันที่สูง (คิดเป็นมูลหนี้ที่สูงถึง 89% ของหนี้เสียที่ซื้อในปีก่อน) หนุนให้บริษัทฯ มี cash collection ดีขึ้น และ credit cost ลดลง จากการตัดจำหน่ายทุนเพิ่มขึ้นเป็น 8 ปี (เดิม 6 ปี) ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีก่อน รวมทั้งธุรกิจปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกันที่จะขยายตัวสูง และบริษัทฯ มีแผนจะ spin-off ภายใน 1-2 ปีนี้

ค่ายสีน้ำเงินรายนี้ ให้ราคาเหมาะสมไว้ที่ 16 บาท อิง 2022E P/BV ที่ 4.6 เท่า (+1SD above 3-yr average P/BV) เมื่อประเมินอัตราเติบโตของผลดำเนินงาน 3 ปีนี้เฉลี่ย (CAGR) ที่ 29% ไม่คิดรวมโอกาสที่จะเกิดจากการจัดตั้ง JVAMC กับธนาคารพาณิชย์ในอนาคต

ขณะที่ทรีนีตี้ (TNITY) ประเมินแนวโน้มกำไรปีนี้ของ CHAYO ว่าจะเติบโต 30% มาอยู่ที่ 286 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถซื้อได้มาก เพราะมีการแข่งขันด้านราคา ขณะที่หนี้ที่มีอยู่แล้วยังมีโอกาสได้รับการชำระสูงขึ้นรับการเปิดเมือง อีกทั้งบริษัทฯ ยังเร่งขยายสินเชื่อ ช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้อาจลดลงจากยอดจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น โดยให้มูลค่าพื้นฐานที่ 16.15 บาท อิง P/BV 4.2 เท่า เมื่อปรับลดสมมติฐาน ROE ระยะยาวจาก 14% เหลือ 13.5%  ให้สะท้อนฐานทุนที่ใหญ่ขึ้น และแนะนำ "ซื้อ" เพราะมี upside น่าสนใจ

ซึ่งราคาเหมาะสมที่ค่ายสีแดงให้ไว้นี้ เป็นราคาเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์สำนักต่างๆ ประเมินมูลค่าเอาไว้ด้วย  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้