690 จำนวนผู้เข้าชม |
ไอร่า (AIRA) ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย และยูเครน ว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร จะออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียมากขึ้น เพื่อกดดันให้รัสเซียเข้าร่วมโต๊ะเจรจา ทำให้ในระยะสั้นตลาดยังอยู่ในภาวะ Risk-off เม็ดเงินไหลเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างทองคำ และพันธบัตรระยะสั้น กดดันทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลงได้ต่อในระดับหนึ่ง ประเมินแนวรับของตลาดหุ้นไทยเบื้องต้นที่ 1,650 จุด
ติดตามการออกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยุโรป อย่างใกล้ชิด โดยหลักๆ คาดว่าจะมี 2 กรณี กรณีแรก ออกมาตรการคว่ำบาตรทางการทูตและการเงิน อย่างการอายัดสินทรัพย์ของรัสเซีย และห้ามรัสเซียใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร แต่ไม่ออกมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกพลังงานของรัสเซีย
ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าว คาดความขัดแย้งในวิกฤตยูเครนจะจบลงอย่างรวดเร็ว (หากรัสเซียไม่ขยายพื้นที่ในการยึดยูเครนหรือประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม) คาดจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก ทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสดีดตัวกลับได้ แต่ราคาทองคำมีโอกาสเผชิญแรงขายทำกำไรรุนแรง และราคาน้ำมันมีโอกาสปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
โดยคาดราคาน้ำมันดิบ WTI อาจอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับบริเวณ 85 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันทิศทางหุ้นกลุ่มพลังงาน ขณะที่ดัชนีตลาดมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่บริเวณ 1,700 จุด
กรณีที่สอง ออกมาตรการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบ ทั้งทางการทูต, การเงิน และกีดกันการส่งออกพลังงานของรัสเซีย คาดราคาน้ำมันระยะสั้นจะปรับขึ้นรุนแรง ประเมินน้ำมันดิบ WTI มีโอกาสเร่งตัวขึ้นสูงกว่า 130 เหรียญสหรัฐฯ จากการที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก ปีละ 2.4 แสนล้าน ลบ.ม. โดยส่งออกให้ยุโรปสูงถึง 40% ขณะที่ส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 11% ของโลก วันละ 4.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ทองคำมีโอกาสปรับขึ้นทดสอบแนวต้านที่บริเวณออนซ์ละ 2,000 – 2,070 เหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้นแรง เชื่อว่า กลุ่ม OPEC+ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยส่วนแบ่งตลาดที่หายไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มอ่อนตัวลงได้ในระยะกลาง
แต่หากความขัดแย้งยืดเยื้อ คาดจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าในยุโรป จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกตามมา และสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสอ่อนตัวลงสู่บริเวณ 1,610 / 1,550 จุด ก่อนฟื้นตัวขึ้นในระยะถัดไป
ซึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว AIRA เชื่อว่า สงครามจะไม่ขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากการที่ตลาดหุ้นผันผวนในระยะสั้น ควรกระจายพอร์ตในหุ้น 3 กลุ่ม คือ
1.หุ้นกลุ่มค้าปลีก (MAKRO, CPALL, BJC, HMPRO, GLOBALและ DOHOME) จากความน่าสนใจในเชิง Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดย Forward Price to Sale อยู่ที่ระดับ 0.85 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ที่ 1.34 เท่า ต่ำสุดในรอบ 10 ปี หรืออยู่ที่ราว -2 S.D.
2. หุ้นกลุ่มบริหารสินทรัพย์ (BAM, CHAYO และ JMT) จากแนวโน้มการตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) กับธนาคารพาณิชย์ ช่วยหนุนผลดําเนินงานเติบโตโดดเด่น
3.หุ้นกลุ่มขนส่ง (BTS และ BEM ) คาดผลดำเนินงานมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควผ่อนคลายลง โดยผู้โดยสารรถไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัวข้ึนตั้งแต่ช่วงต้นปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นหุ้นในลักษณะ Defensive ที่มีความปลอดภัยรองรับความผันผวนของตลาดได้
ส่วนหยวนต้า (YUANTA) ประเมินความเป็นไปได้ใน 3 กรณีคือ
1. กรณีดีที่สุด (โอกาส 50%) – ปะทะแล้วกลับเข้าสู่เส้นทางการเจรจาอย่างรวดเร็ว ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผ่านจุดต่ำสุดและฟื้นกลับมาที่จุดเดิมภายใน 1-1.5 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งการที่ตลาดหุ้นสำคัญในสหรัฐฯ และยุโรป ปัจจุบันปรับฐานแล้วกว่า -10% นับตั้งแต่เริ่มกังวลสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ Patternในอดีตแล้ว
2. กรณียืดเยื้อ (โอกาส 40%) – ปะทะวงจำกัดระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือประเทศใกล้เคียงเพื่อปกป้องตัวเอง โดยไม่มีกองกำลังจากนาโต้เข้ามาขยายวงกว้าง (แต่ให้การสนับสนุนด้านอื่นแทน) ตลาดหุ้นทั่วโลกจะแกว่ง Sideway down มีฟื้นสลับเป็นระยะตามพัฒนาการของความขัดแย้ง และการเจรจาแต่จะใช้เวลาฟื้นกลับที่จุดเดิมนานกว่า Pattern ในอดีต
3. กรณีแย่ที่สุด (โอกาส 10%) – ปะทะรุนแรงระหว่างรัสเซียและกองกำลังนาโต้ ตลาดการเงินทั่วโลกจะเข้าสู่โหมด Risk off จากความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ขณะที่ Downside ของตลาดหุ้นสำคัญจะเปิดกว้างกว่าปัจจุบัน ต้องประเมินจุด Bottom ตามพัฒนาการของความขัดแย้งอีกครั้ง
กระนั้น YUANTA ประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด และไม่น่าหลุดแนวรับกรอบ 1,630-1,650 จุด เพราะเชื่อว่า รัสเซีย ยูเครน และนาโต้จะกลับเข้าสู่แนวทางการเจรจาในไม่ช้า ส่งผลให้สถานการณ์ปัจจุบันเข้าใกล้จุด Peak เมื่ออิง Pattern ในอดีต ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทางตรงยังมีไม่มาก แต่ผลกระทบทางอ้อมต้องติดตามราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปัจจัยด้านเงินเฟ้อกลับมาเป็นตัวแปรกดดันเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนในระยะถัดไป
สำหรับชุดหุ้นที่น่าสนใจช่วงนี้ แม้กลุ่มพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ พวกเหล็กและโลหะ รวมถึงการลงทุนในกองทุนทองคำและน้ำมัน จะดูน่าสนใจในระยะสั้น แต่สถิติในอดีตบ่งชี้ว่า เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งคลายตัวลง ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นจะทรุดกลับมาที่จุดเดิมอย่างรวดเร็ว จึงให้น้ำหนักเพียง Trading รายวันตามข้อมูลข่าวสารที่เข้ามากระทบเท่านั้น
ขณะที่ กลุ่ม 3D ได้แก่ Domestic, Defensive, และ Dividend Plays จะเป็นกลุ่มที่ทนแรงเสียดทานในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงได้ดีกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบจากสงครามจำกัด อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวรับเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคตได้ดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีก สื่อสาร บันเทิง การแพทย์และสินค้าอุปโภคบริโภค
ซึ่งเมื่อคัดเลือกหุ้นที่เข้าธีมดังกล่าว และ Valuation ยังไม่แพง จะมีหุ้นน่าสนใจ 7 ตัว คือ BDMS, CPALL, DTAC, MAKRO, OSP, PSH และ TISCO
ขณะที่เอเซีย พลัส (ASPS) มองว่า ตลาดหุ้นโลกยังอยู่ภายใต้ความผันผวน จากความกังวลการเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยถือว่าถูกผลกระทบจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรป ทั้งพื้นที่อยู่ห่างรัสเซีย การนำเข้าส่งออกระดับต่ำ 0.4% และสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.7% ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้คาดหวังว่า Fund Flow จากต่างชาติช่วยพยุงตลาดได้ต่อเนื่อง
ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว อาจกดดันให้ตลาดหุ้นย่อตัวลงบ้าง จึงเป็นโอกาสซื้อสะสมหุ้นใหญ่ที่น่าจะเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติ และต้องผ่าน 3 เกณฑ์ ดังนี้
1. เป็นหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี ฝ่ายวิจัยแนะนำ "ซื้อ” และมี Upside
2. คาดการณ์กำไรปีนี้สูงกว่ากำไรปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
3. ราคาหุ้นยัง Laggard ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าตลาด ในช่วงเวลาเดียวกัน
ASPS พบว่า จะมีหุ้นน่าสนใจ 9 ตัว ได้แก่ AEONTS, BGRIM, GPSC, OSP, PTT, SCC, SCCC, TOP และ WHA