ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หนุนให้ Fed ต้องทบทวนแผนขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

678 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หนุนให้ Fed ต้องทบทวนแผนขึ้นดอกเบี้ยช้าลง

แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจมีความชัดเจนน้อยลง จากสถุานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เพราะความขัดแย้งดังกล่าวหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นรายจ่ายสำคัญของชาวอเมริกันจำนวนมาก และผู้บริโภคอเมริกันคือกำลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูงถึง 70%

Mark Zandi หัวหน้านักกลยุทธ์ของ Moody’s Analytics กล่าวว่า ราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นถึงบาร์เรลละ 10 หรือ 15 เหรียญสหรัฐฯ จากสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงอยู่แล้ว จนทำให้การตัดสินใจควบคุมเงินเฟ้อของ Fed มีความยากยิ่งขึ้น

เมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก AAA เว็บไซต์ข้อมูลราคาน้ำมันของสหรัฐฯ ระบุว่า ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ชาวอเมริกันต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันเบนซิน ไร้สารตะกั่ว แพงขึ้น 90 เซนต์จากช่วงเดียวกันปีก่อน และแพงขึ้น 21 เซนต์จากเดือนมกราคม ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นประมาณ 50% ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ มองว่า ราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของ Fed เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อ และส่งผลต่อเนื่องถึงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนอาจทำให้ Fed ต้องชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ Fed ก็อาจใช้มาตรการเชิงรุกมากขึ้น หากเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อพุ่งแรง

Bruce Kasman หัวหน้านักวิเคราะห์ของ JP Morgan คาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน มีนาคม หากสถานการณ์ยูเครนคลี่คลายลง พร้อมทั้งคาดว่า ตลอดปีนี้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้ง หลังจากปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ค่ายนี้ เคยให้ความเห็นว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมทั้ง 9 รอบต่อไป ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed Fund Rate) อยู่ที่ 2.25-2.50% ในต้นปีหน้า   

แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เริ่มไม่ค่อยชัดเจน เพราะบางส่วนมองว่าความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทำให้ Fed ลดความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed อาจดำเนินนโยบายเข้มงวดมากกว่าเดิม เพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ อย่าง Citi Group ปรับขึ้นคาดการณ์ว่า Fed จะมีมุมมองที่เข้มงวดมากขึ้น และขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.5% 

อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดแรกของปีนี้มากน้อยเพียงไร รวมถึงแผนปรับลดขนาดงบดุล (Balance sheet reduction) ด้วยว่า จะมีโอกาสเริ่มต้นช้าลงไปจากที่เคยคาดว่าจะเริ่มช่วงกลางปีนี้หรือไม่

ด้านเอเซีย พลัส (ASPS) ชี้ว่า ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แม้จะเขย่าให้ตลาดการเงินโลกผันผวน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ส่งผลให้ตลาดเริ่มปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปในทิศทางที่ลดความเข้มงวดลง สังเกตได้จากช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดเคยคาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% (หรือจาก 0-0.25% เป็น 0.50-0.75%) 

แต่เมื่อมีความเสี่ยงจากรัสเซีย-ยูเครนเกิดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น ตลาดจึงปรับมุมมองใหม่เป็นคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% (จาก 0-0.25% เป็น 0.25-0.50%) ในการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคมที่จะถึงนี้  สะท้อนจากมุมมองอัตราดอกเบี้ย Fed ของตลาดปรับลดลงจากจุดสูงสุดที่ 0.59% (อยู่ในช่วง 0.5-0.75%) ลงมาเหลือ 0.34% (อยู่ในช่วง 0.25-0.5%) 

ยิ่งนาย Jerome Powell ประธาน Fed แถลงการณ์ต่อสภาคองเกรส โดยเน้นย้ำว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นแน่นอนในเดือนมีนาคม แม้สถานการณ์ความตึงเครียด ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจสร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มากขึ้น และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผิดไปจากคาด ก็พร้อมดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้น  

ท่าทีของ Fed ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้ตลาดปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ว่า ดอกเบี่้ยจะขึ้นเพียง 0.25% และคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี เพียง 5 ครั้ง (ทุกครั้ง 0.25%) จากที่คาดการณ์ไว้เดิม 6 ครั้ง (มี 1 ครั้ง ขึ้น 0.5%)

มุมมองอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ลดความเข้มงวดลง สะท้อนว่า ตลาดการเงินโลกมีความกังวลต่อประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยให้มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดหุ้นไทยยังได้ Momentum เชิงบวกจากหุ้นกลุ่มพลังงานหนุน เพราะหุ้นในกลุ่ม Energy และ Petro มีน้ำหนักราว 31% ใหญ่ที่สุด (วัดจากกำไรย้อนหลัง 5 ปีติดต่อกัน) ซึ่งหุ้นกลุ่มเหล่านี้ได้กระแสจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง

ตลาดหุ้นไทยถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความปลอดภัย และได้รับผลกระทบจำกัด ท่ามกลางความผันผวนจากรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นหากราคาหุ้นปรับย่อตัวลงมา มองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสม 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้