SSP ปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม รับรู้รายได้ทันทีไตรมาสแรก หนุนรายได้โต 20% สร้าง New All Time High

597 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SSP ปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม รับรู้รายได้ทันทีไตรมาสแรก หนุนรายได้โต 20% สร้าง New All Time High

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP)  เปิดเผยแผนดำเนินงานปีนี้ว่า ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะบริษัทฯ มีแผนลงทุนซื้อกิจการ (M&A) หรือร่วมลงทุน (JV) โครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศหลายโครงการ

ล่าสุด บริษัทฯ มีการลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าพลังงานลม (Wind Farm) ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ในจังหวัดมุกดาหาร ผ่านการซื้อหุ้น บริษัท วินชัย จำกัด ในสัดส่วน 25% จาก Qian Xing Long Co., Ltd. ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ( Adder) ในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่ไตรมาสแรกนี้เป็นต้นไป

ซึ่งนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP ชี้แจงว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมครั้งนี้ ถือเป็นพัฒนาการสำคัญในการขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ผ่านการทำ M&A หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปลงทุนใน บมจ.โนวา เอมไพร์ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 400 MW ภายในปี 2567 

โดยเพื่อเดินหน้าแผนงานให้บรรลุเป้าหมาย SSP ได้ขอการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) วงเงิน 39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,287 ล้านบาท เพื่อใช้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 40 MW รวมถึงโครงการโซล่ารูฟท็อป ที่อินโดนีเซีย ขนาดกำลังการผลิต 30 MW ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว

ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนโรงไฟฟ้า Wind Farm เฟส 2 ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 MW บริษัทฯ เตรียมต่อยอดโครงการเพิ่มเติม โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างทำการศึกษาและรอความชัดเจนจากทางการเวียดนาม

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ LEO 2 ที่ญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 22 MW คาดว่า จะสามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 2 ปี 2567  

สำหรับผลดำเนินงานปีที่ผ่านมา SSP สามารถสร้างสถิติรายได้และกำไรสูงสุด นับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ (All Time High) โดยมีรายได้รวม 2,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY)  และมีกำไรสุทธิ 859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% YoY เนื่องจากบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 100 MW เป็น 296 MW หลักๆ มาจากการรับรู้รายได้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yamaga ที่ญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 34.5 MW เต็มปี หนุนด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  LEO 1 ในญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 26 MW, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 MW และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 MW

ความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา ทำให้ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น เตรียมจ่ายปันผล ทั้งในรูปหุ้นและเงินสด โดยจ่ายเงินสด หุ้นละ 0.0111111114 บาท ส่วนหุ้นปันผล กำหนดสัดส่วนไว้ที่ 10 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้    

สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์ เชื่อมั่นว่า SSP จะสามารถสร้างสถิติ New All Time High ทั้งในแง่รายได้และกำไรได้ ทำให้ประเมินราคาเหมาะสมเฉลี่ยได้ที่ 15.80 บาท    

ค่ายเอเซีย พลัส (ASPS) ให้ความเห็นว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าแผนลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิตกว่า 400 MW ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 370 MW พร้อมเตรียมเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่จะ เป็น New s-curve ต่อยอดกำไรในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษา คาดจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นภายในปีนี้ ขณะที่การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าวินชัย คาดช่วยสร้างกำไรได้อีกปีละ 110-120 ล้านบาท ในช่วงที่ยังมี Adder

ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไร 2 ปีนี้ เพื่อให้สะท้อนการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าวินชัย ส่งผลให้ประมาณการใหม่ปี 2565-66 เพิ่มขึ้น 8.7% และ 9.5% เป็น 1.2 พันล้านบาท และ 1.3 พันล้านบาท เติบโต 42.6% YoY และ 5.1% YoY ตามลำดับ และคาดกำไรปกติมีแนวโน้มเติบโตกว่า 40% YoY คิดเป็นมูลค่าพื้นฐานปีนี้ได้ที่ 13.3 บาท จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่เน้นให้หาจังหวะเข้าสะสมเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัว

ส่วนหยวนต้า (YUANTA) คาดกำไรปกติไตรมาสแรกเติบโต QoQ และ YoY หนุนจาก 3 ปัจจัย ประการแรก การรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามแบบเต็มไตรมาสครั้งแรก ประการถัดมา ไม่มีการปิดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้า UPT และ Yamaga เหมือนในไตรมาส 4 ปีก่อน และประการสุดท้าย การเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าวินชัย ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จึงคงแนะนำ “ซื้อ” โดยให้ราคาเหมาะสมสิ้นปี ที่ 16.40 บาท คิดเป็น Upside Gain กว่า 40% อย่างไรก็ตาม ราคาเหมาะสมข้างต้น ยังไม่รวม Upside จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าวินชัย  และ Dilution ที่จะเกิดขึ้นจากหุ้นปันผล แต่หากรวมผลจากทั้งสองประเด็นนี้ ราคาเหมาะสมใหม่จะอยู่ที่ 15.40- 15.90 บาท

ขณะเดียวกัน ราคาหุ้นยังมีประเด็นบวกรออยู่ คือ การประกาศแผนพัฒนาไฟฟ้า (PDP8) ของเวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลง และเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนแทน และช่วยผลักดันให้บริษัทฯ สามารถขยาย Portfolio ได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งคาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งแรกปีนี้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้