โบรกเพิ่มราคา BANPU อานิสงค์ราคาก๊าซ ถ่านหินพุ่ง ผลขาดทุนจาก hedging ลดลง ส่วนผู้บริหารประกาศเป้าเพิ่ม EBITDA เกิน 50% ภายในปี 2568 ส่วนปีนี้

781 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โบรกเพิ่มราคา BANPU อานิสงค์ราคาก๊าซ ถ่านหินพุ่ง ผลขาดทุนจาก hedging ลดลง ส่วนผู้บริหารประกาศเป้าเพิ่ม EBITDA เกิน 50% ภายในปี 2568 ส่วนปีนี้

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า นับจากปีนี้ไปจนถึงปี 2568 บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงานที่สอดรับกับเทรนด์พลังงานในอนาคต ให้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยวางแนวทางการดำเนินการในกลุ่มธุรกิจหลักทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ในส่วนธุรกิจเหมือง จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารจัดการการต้นทุนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจแร่แห่งอนาคต (Strategic  Minerals) เพื่อต่อยอดการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน

ซึ่งล่าสุด บริษัทฯ ได้มีการพูดคุยหารือกับพันธมิตร เพื่อร่วมลงทุนในเหมืองแร่นิกเกิล และลิเทียมไอออน ซึ่งมีมากในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นสูงมาก จึงต้องใช้เวลาในการเจรจาพอสมควร

สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะให้ความสำคัญกับการใช้งบลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดสูงสุด เมื่อสถานการณ์ราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจกลางน้ำและธุรกิจผลิตพลังงานที่สามารถส่งเสริมและต่อยอดธุรกิจต้นน้ำที่มีอยู่

ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากกลุ่มธรุกิจแหล่งพลังงานจะถูกนำไปใช้ต่อยอดสร้างการเติบโตของธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชาญฉลาดขึ้น

ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า รวมถึงแสวงหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) รวมถึงให้ความสำคัญกับการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าให้สามารถเปิดดำเนินการได้ตรงตามระยะเวลากำหนด ขณะเดียวกัน ก็จะขยายการลงทุนไปในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง รวมไปถึงภูมิภาคกลยุทธ์ที่ BANPU มีธุรกิจอยู่ เช่น ในสหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน จะมุ่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Scale Up) ให้พอร์ตฟอลิโอเทคโนโลยีพลังงาน โดยขยายขอบเขตการให้บริการด้านพลังงานที่มีอยู่ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่ การจัดการพลังงานและของเสีย (Energy and Waste Management) ควบคู่ไปกับการเข้าลงทุนและพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างศักยภาพทางธุรกิจ รวมไปถึงสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการทำธุรกิจว่า จะต้องมี EBITDA เพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% และเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 6,100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2568

และเพื่อสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter กลุ่ม BANPU เตรียมงบลงทุนประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแรกใช้ลงทุนธุรกิจแหล่งพลังงาน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่สองเป็นการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้า แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโรงไฟฟ้าก๊าซฯ กับพลังงานความร้อนร่วมอีก 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนที่เหลืออีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นงบลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานของกลุ่มบริษัทฯ

โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ ส่วนหนึ่ง เงินกู้สถาบันการเงินส่วนหนึ่ง และการระดมทุนผ่านหุ้นกู้เพิ่มเติม หลังจากมีการเสนอขายหุ้นกู้ไปแล้วเมื่อต้นปี เป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งมีภาระต้นทุนทางการเงินที่สมเหตุสมผล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU ยังประเมินแนวโน้มผลดำเนินงานปีนี้ด้วยว่า น่าจะเติบโตจากปีก่อน ขับเคลื่อนโดยยอดขายถ่านหินที่คาดว่าจะเติบโตจากปีก่อน 12% เป็น 33.8 ล้านตัน และราคาถ่านหินกับราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น  ประกอบกับธุรกิจผลิตพลังงานน่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงปีก่อน ที่ทำได้ราว 841 เมกะวัตต์ (MW)

ซึ่งนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก คิดตรงกับที่ผู้บริหารให้ข้อมูลไว้ว่า บริษัทฯ น่าจะทำกำไรได้ดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายและราคาถ่านหินที่สูงขึ้นตลอดช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงการรับรู้รายได้จากโครงการ Barnett เต็มปี และการมีผลขาดทุนจาก hedging ที่น้อยลง อีกทั้งยังมีกำไรพิเศษจากการขาย Sunseap Group ภายในไตรมาสแรก ไม่ต่ำกว่า 5.0 พันล้านบาท จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ และปีหน้าขึ้น ส่งผลให้ปรับราคาเหมาะสมเพิ่มตามไปด้วย

อย่างค่ายกรุงศรีอยุธยา (KSS) และเคทีบี (KTBST) ปรับราคาเหมาะสมเป็น 14 บาท และ 15 บาท ตามลำดับ ขณะที่ธนชาต (TNS) ให้มูลค่าสูงถึง 22 บาท   

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้