โลกในมุมมอง Value Investor

593 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โลกในมุมมอง Value Investor

เรื่องเกี่ยวกับประเทศรัสเซียนั้น ผมคิดว่าคนไทยรู้จักและสนใจค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจพอๆ กัน อย่างเกาหลีใต้ เหตุผลสำคัญอาจจะมาจากการที่รัสเซียอยู่ห่างจากประเทศไทยค่อนข้างมาก มีการติดต่อค้าขายน้อย และวัฒนธรรมของผู้คนแตกต่างกันมาก เราแทบไม่เคยเห็นหรือใช้สินค้ารัสเซีย ไม่ต้องพูดถึงภาพยนตร์  ดารานักร้องที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่นักกีฬาที่โดดเด่นที่จะเป็นข่าวให้เราติดตามแบบประเทศที่ก้าวหน้า และ "เปิด" อย่างอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย 

สิ่งที่เรารับรู้มากหน่อยเกี่ยวกับรัสเซีย อาจจะเป็นเรื่องของนักท่องเที่ยว และชุมชนชาวรัสเซีย โดยเฉพาะแถวพัทยา และที่เด่นที่สุดก็คือ "ผู้นำสูงสุด" ของรัสเซีย คือ วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งอยู่ใน "เวทีโลก" ในด้านการเมืองเป็นเวลานานมาก นับถึงวันนี้ก็กว่า 20 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าปูตินจะมีความสุข และแสดงให้โลกเห็นและรับรู้ว่า รัสเซียยังเป็น "มหาอำนาจ" ที่ยิ่งใหญ่และใครจะมา "ลูบคม" ไม่ได้

และนี่ก็คือสิ่งที่เราจะมาดูกันว่าจริงหรือไม่ แล้วสงครามกับยูเครนที่ปูตินก่อขึ้นจะลงเอยอย่างไร และจะกระทบกับรัสเซียและโลกอย่างไร - โดยเฉพาะเรื่องของหุ้น - ทั่วโลก

ในการวิเคราะห์นั้น ผมจะเดินเรื่องตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และตามด้วยรัสเซียที่มีปูตินเป็นผู้นำหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากเวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในช่วงหลังนั้น อยู่ในช่วงที่มีปูตินเป็น "ผู้จัดการ" รัสเซียและปูตินจึงแทบจะแยกกันไม่ออก การเติบโตก้าวหน้า หรือล้าหลังของประเทศ ก็มีส่วนสำคัญจากปูติน สถานะความเข้มแข็งของรัสเซียก็น่าจะอยู่ที่บทบาทของปูติน ถ้าเปรียบรัสเซียเป็น "หุ้น" ตัวหนึ่งในหุ้นโลกหรือประเทศทั้งหมดในโลก ปูตินก็เป็น "ซีอีโอ" ของบริษัทรัสเซีย ประเทศรัสเซีย 

หุ้นรัสเซียนั้นเคยยิ่งใหญ่มากและอยู่มานาน CEO ปูตินเองก็อายุมาก และบริหารงานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และดูเหมือนว่าจะได้รับการยอมรับว่า มีความสามารถและเก่งกาจ โดยเฉพาะในแวดวงการเมืองทั้งในและต่างประเทศ แต่วันนี้ที่เป็นศตวรรษที่ 21 แล้ว สภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะมา Disrupt หรือทำลายแนวความคิด และวิธีการเดิมของปูตินหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณากัน

การวิเคราะห์พลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ของประเทศนั้น ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นเรื่องยาก เพราะโลกยังไม่มีข้อมูลที่เรียกว่า "GDP" หรือภาษาไทยคือ "ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ" ต่อปี นี่คือปริมาณสินค้าและบริการทั้งหมดที่ประเทศผลิตได้ ตั้งแต่เรื่องของอาหารและปัจจัย 4 ที่คนจำเป็นต้องใช้ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นความรู้ ความฉลาดที่จะช่วยเพิ่มพลังในการผลิต รวมถึงอาวุธที่จะใช้ในการป้องกันประเทศหรือต่อสู้กับประเทศอื่นในแต่ละปี มันบอกถึงจำนวนของผู้คนที่เป็นพลเมืองและความสามารถของคนที่จะทำการผลิตหรือกิจกรรมอื่น เช่นการรบ ซึ่งก็จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะทำให้ผู้คนในประเทศอยู่ดีกินดีในยามสงบ และก็สามารถนำมาใช้ในช่วงที่เกิดสงคราม  ดังนั้น โดยหลักการคร่าวๆ ก็คือ ถ้า 2 ประเทศรบกัน ประเทศที่มี GDP มากกว่า ก็มีโอกาสชนะสงครามมากกว่า

สหภาพโซเวียตรัสเซียนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของรัฐต่างๆ จำนวนมาก หลังจากการปฎิวัติบอลเชวิกโค่นล้มพระเจ้าซาร์แห่งจักวรรดิรัสเซียในปี 1922 และปกครองประเทศด้วยระบบคอมมิวนิสต์มาจนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นฝ่ายผู้ชนะสงครามในปี 1945 หลังจากนั้น สหภาพโซเวียตก็เจริญเติบโตและก้าวหน้าเร็วระดับต้นๆ ของโลกในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ อาจจะเป็นรองเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการรวมตัวของรัฐต่างๆ และก็เป็นฝ่ายชนะสงครามเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ เศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพก็เกิดปัญหารุนแรง จนถึงจุดสุดท้ายในปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย ในวันนั้น สหภาพโซเวียตมี GDP ราว 3.14 ล้านล้านเหรียญหรัฐฯ เป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นที่ 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และอเมริกาที่ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หากวัดจากกำลังซื้อจริงๆ หรือ PPP สหภาพโซเวียตมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงสหรัฐฯ อีกทั้งมีจำนวนประชากรมากกว่าอเมริกาด้วย พูดง่ายๆ ในปี 1991 นั้น  สหภาพโซเวียตยิ่งใหญ่จริง และเป็น "ซุปเปอร์เพาเวอร์" เท่าๆ กับอเมริกา

หลังจากโซเวียตล่มสลาย ประชากรของรัสเซียเหลือเพียงครึ่งเดียว ที่ประมาณ 150 ล้านคน เศรษฐกิจก็ตกต่ำลงไปมาก GDP ของรัสเซียไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถึงแม้ว่ารัสเซียยังมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุด แต่ก็แทบไม่มีบทบาทหรือศักดิ์ศรีอะไรในเวทีโลกมากนัก และการ "แข่งขัน" กับอเมริกา ในแทบทุกด้านก็จบลงไปด้วย

เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปีที่เศรษฐกิจไม่โตเลย และมีแต่เล็กลงจนถึงปี 2000 GDP อยู่ที่ 259,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือแค่ 10% จากจุดสูงสุดของโซเวียต และนั่นก็คือวันที่ปูตินได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียสมัยแรก และนั่นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มของการพยายามที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ของโซเวียต และอาณาจักรรัสเซียในอดีตให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ภายใต้ปูติน โดยเฉพาะในช่วง 8 ปีแรกนั้น รัสเซียเริ่มนำระบบทุนนิยมมาใช้ และเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหรรมการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียมีอยู่มาก ผลก็คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยถึงปีละ 26% จนถึงปี 2008 GDP ก็มีขนาด 1.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนจะตกลงมาในช่วงปี 2009 เหลือ 1.22 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อานิสงค์จากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ของอเมริกา และการตกลงมาของราคาน้ำมันดิบจาก บาร์เรลละ 140 เหรียญสหรัฐฯ เหลือเพียง 41เหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ขนาดของ GDP รัสเซียในปี 2010 ก็กลับมาติดอันดับ 10 ของโลก ที่ 1.52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ควบคู่กับหัวรบนิวเคลียร์ที่ยังอยู่ครบ ปูตินและรัสเซียก็เริ่มจะเชิดหน้าได้ และเขาเตือนโลกเสมอว่า รัสเซียยังเป็นมหาอำนาจที่ใครจะมาหยามไม่ได้

เศรษฐกิจรัสเซียเดินหน้าเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็วต่อจนถึงจุดสูงสุดในปี 2013 ที่ 2.21 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ปูตินน่าจะเริ่มมีความเชื่อมั่นในตนเอง และศักยภาพของรัสเซียมากขึ้นมาก จนถึงเวลาที่จะเริ่มรวบรวม "อดีตรัฐโซเวียต" ให้กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง 

ในช่วงต้นปี 2014 เขาก็เข้ายึดครองไครเมียของยูเครน และเริ่มส่งเสริมผู้คนในเขตดอนบาสของยูเครนให้แยกตัวเป็นอิสระ ซึ่งในที่สุดก็อาจจะกลับไปรวมกับรัสเซีย การดำเนินการครั้งนั้นแทบไม่มีมหาอำนาจยุโรปคัดค้านรุนแรง เหตุเพราะทั้ง 2 เขตนั้นมีคนเชื้อสายรัสเซียเป็นส่วนใหญ่  แต่อีกหลายเดือนต่อมา อเมริกาก็เริ่ม "แซงชั่น" รัสเซียแบบเบาๆ  เพื่อเป็นการเตือนว่าไม่เห็นด้วย นั่นประกอบกับการที่ราคาน้ำมันตกลงมาจาก บาร์เรลละ 100 เหรียญสหรัฐฯ เหลือ 50 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ค่าเงินรูเบิลตกลงมาครึ่งหนึ่ง จาก 33 รูเบิลต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ กลายเป็น 66 รูเบิลต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ในเวลาไม่กี่เดือน  ดังนั้น พอถึงปี 2015 GDP ของรัสเซียก็ตกลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 1.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

เวลาผ่านไปอีก 6-7 ปี เศรษฐกิจรัสเซียก็โตกลับขึ้นไปใหม่ ส่วนหนึ่งก็ตามราคาน้ำมันดิบที่เป็นผลิตผลหลักของรัสเซียแต่ GDP ก็ไม่เคยกลับขึ้นไปเกิน 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จนกระทั่งถึงปีนี้ที่รัสเซียเริ่มบุก และดูเหมือนว่าอาจจะยึดยูเครนทั้งประเทศ ซึ่งทำให้นาโต้และอเมริกาแซงชั่นอย่างหนักที่สุดทันที ผลก็คือ ค่าเงินรูเบิลตกลงมาเกือบครึ่งทันทีจาก 70 ต้นๆ เป็นเกือบ 140 รูเบิลต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป GDP ของรัสเซียก็อาจจะลดเหลือเพียง 1 ล้านล้านเหรียญเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่าของไทยเพียงเท่าเดียว แม้ว่าราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ก็อาจจะไม่ช่วยอะไรมากนักเพราะสินค้าอื่นถูกแซงชั่นไปมากมาย

ความผิดพลาดของปูติน โดยเฉพาะความพยายามพารัสเซียกลับไปยิ่งใหญ่แบบเดิม ผ่านการทำสงคราม ทำให้รัสเซียถูกแซงชั่น และค่าเงินตกลง ส่งผลให้ GDP ลดลงมาก ในขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับน้ำมันดิบและทรัพยากรธรรมชาติมาก ทำให้การพัฒนาด้านอื่นไม่ก้าวหน้า ไม่สามารถ"ตามโลกสมัยใหม่ทัน" ส่งผลให้รัสเซียเล็กลง และมีศักยภาพน้อยลง จนแทบไม่มีความสำคัญมากอีกต่อไป ยกเว้นเพียงการเป็น "ภัยคุกคาม" ต่อโลก เพราะมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุด

แต่ในประเด็นอื่นๆ เศรษฐกิจรัสเซียวันนี้ไม่ได้ใหญ่พอจะเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกได้เลย ดังนั้น ในขั้นนี้ผมคิดว่านักลงทุนไม่ต้องเป็นห่วงมากนักกับสงครามรัสเซีย - ยูเครน ผมคิดว่าหุ้นโลกลงรอบนี้อาจจะไม่ได้มีส่วนจากสงครามมากนัก มันอาจจะถึงเวลาลงของมันอยู่ก่อนแล้วก็ได้ หลังจากที่ปรับขึ้นแรงมายาวนานหลายปี สงครามอาจจะซ้ำเติมบ้างแต่ไม่มาก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้