BBGI ไม่ให้ผลตอบแทนนักลงทุนที่ได้หุ้นจอง เชื่อมีสาเหตุจากการซื้อหุ้นส่วนเกินคืน

577 จำนวนผู้เข้าชม  | 

BBGI ไม่ให้ผลตอบแทนนักลงทุนที่ได้หุ้นจอง เชื่อมีสาเหตุจากการซื้อหุ้นส่วนเกินคืน

การเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 433.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10.50 บาท เมื่อราคาหุ้นยืนต่ำจองตลอดครึ่งวันเช้า โดยหลังจากเปิดตลาดที่ 10.10 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 40 สตางค์ คิดเป็นผลขาดทุน 3.8% ก็เผชิญแรงขายกดราคาหุ้นไหลมาแตะจุดต่ำสุดที่ 9.85 บาท ก่อนจะมีแรงซื้อประคองราคาให้แกว่งตัวในกรอบแคบๆ บริเวณ 10 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดตลาดภาคบ่าย กลับมีแรงซื้อโถมเข้ามาดันราคาหุ้นขึ้นมายืนเหนือจองได้สำเร็จ แต่ไม่เกิน 10.80 บาท หรือให้กำไร 30 สตางค์ ก่อนจะถูกแรงขายทำกำไรปลายตลาด กดราคาหุ้นให้อ่อนตัวลงมาปิดเท่าราคาจอง

สำหรับการซื้อขายในวันศุกร์ถัดมา สถานการณ์ก็ไม่กระเตื้องขึ้น เพราะหลังจากมีแรงซื้อดันราคาหุ้นขึ้นมาทำจุดสูงสุดที่ 10.80 บาท ก็เจอแรงขายกดราคาหุ้นกลับมาต่ำจองอีกครั้ง โดยมีการตั้งข้อสังเกตจากนักกลยุทธ์หลายรายว่า การที่ราคาหุ้นไม่ตอบรับกับบรรยากาศการลงทุน น่าจะมีสาเหตุจากการซื้อหุ้นที่ยืมมาจาก 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ซึ่งมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน รวมกัน 43.32 ล้านหุ้น  

โอกาสนี้ นางสาวบุษราภรณ์ จันทร์ชูเชิด รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.กรุงไทย ซีมิโก้ (KTZ) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน BBGI แนะนำว่า การที่ราคาหุ้นต่ำจอง ถือเป็นโอกาสซื้อสะสมสำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนระยะยาว เพราะในแง่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ยังคงแข็งแกร่งเหมือนเดิม และต่ำกว่าราคาเหมาะสมที่ควรจะเป็น  

ส่วนนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BBGI ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าโครงการผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Contract Development and Manufacturing Organization - CDMO) โดยเฉพาะการก่อตั้งโรงงานพัฒนาสินค้าด้าน Biotech เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1-2 พันล้านบาท ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคาดว่า จะมีความชัดเจนเรื่องพันธมิตรรายใหม่ในเดือนเมษายนนี้ เพราะวางแผนเปิดดำเนินการโรงงาน CDMO ในปลายปีหน้า

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการเจรจากับพันธมิตรอีก 2-3 ราย เพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกิจ โดยพร้อมชี้แจงรายละเอียดทันทีที่มีบทสรุป

สำหรับภาพรวมรายได้ปีนี้ คาดทำได้ใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ 1.41 หมื่นล้านบาท หนุนโดยการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (HVP) เต็มปี หลังจากเริ่มรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน โดยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2569 จะมีสัดส่วน EBITDA จากผลิตภัณฑ์ HVP ที่ส่งเสริมสุขภาพ คิดเป็น 50% ของ EBITDA ทั้งหมด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้