คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากกว่าจะกังวลเงินเฟ้อ

789 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากกว่าจะกังวลเงินเฟ้อ

เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เริ่มเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรม และสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต เร่งตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศ พร้อมกับบั่นทอนกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีความเปราะบางอยู่เดิมจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดให้บอบช้ำมากขึ้นไปอีก

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ประเมินว่า ผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละธุรกิจจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่อต้นทุนรวม และความสามารถในการปรับตัว

แต่ในเบื้องต้น กลุ่มผู้ผลิตอาหาร รถยนต์ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่อต้นทุนรวมที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ผลกระทบบางส่วนอาจตกไปยังผู้บริโภคผ่านการทยอยปรับราคาสินค้าในระยะเวลาถัดๆ ไปขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสต็อกคงเหลือ ความสามารถในการหาวัตถุดิบทดแทน สภาพการแข่งขันในตลาดและกำลังซื้อผู้บริโภค 

นอกจากนี้ วิกฤตรัสเซีย – ยูเครนยังมีผลต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันพึ่งพานักท่องเที่ยวจากยุโรปอย่างมาก ในช่วงที่จีนยังคงปิดประเทศ อีกทั้งยังจะมี่ผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นสำคัญ 

ดังนั้น เมื่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทำให้ K-Research คาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเช่นเดียวกัน 

ซึ่งประเด็นการคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ถือได้ว่าสอดรับไปกับมุมมองของฝ่ายวิจัย หรือฝ่ายวิเคราะห์จากแวดวงโบรกเกอร์ กองทุนรวม และธนาคารหลายแห่ง เช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ดี กับแนวโน้มในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี กนง. จะมีความท้าทายมากขึ้นในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ท่ามกลางแนวโน้มราคาพลังงานที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะข้างหน้า โดย K-Research คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปีนี้ อยู่ที่ 4.5%

แต่เนื่องจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อนั้น เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่อาจช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดนัก อีกทั้งจะยิ่งบั่นทอนการบริโภคและการลงทุนไปมากกว่าเดิม ดังนั้น จึงมีความเชื่อมั่นว่า กนง. คงจะยังไม่พิจารณาเลือกใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบเข้มงวดเพื่อสกัดกันเงินเฟ้ออย่างธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่มีความแข็งแกร่งเพียงพอ และทำให้นโยบายการคลังจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาผลกระทบของครัวเรือนจากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า

กระนั้น แนวนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงจะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี เมื่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ครั้งที่ผ่านมา FED ได้เริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว โดยมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 0.25-0.50% อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณด้วยว่า จะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งในระยะข้างหน้า ทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและสหรัฐฯ มีความกว้างมากขึ้น รวมถึงหากเงินเฟ้อในไทยยืนในระดับสูงต่อเนื่องจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยติดลบมากขึ้น เป็นการเปิดความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพการเงิน ดังนั้น กนง. คงพิจารณาสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นรอบๆ ไป โดยชั่งน้ำหนักความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแรงกดดันเงินทุนไหลออก รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปีนี้

ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. ครั้งนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดคงจะต้องติดตามการปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพราะน่าจะเห็นท่าทีของ กนง. ในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

ในเบื้องต้น K-Research ประเมินว่า กนง. คงจะปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงไม่มากนักจากประมาณการเดิม ในเดือนธันวาคม ที่ 3.4% แต่หาก กนง. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนได้ในระยะสั้นๆ  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้