โลกในมุมมอง Value Investor

715 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โลกในมุมมอง Value Investor

การประกาศ "แบน" การใช้บิทคอยน์ หรือเหรียญดิจิทัลอื่น ไม่ให้ใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการของธนาคารแห่งประเทศไทย และห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุน หรือส่งเสริมการชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณาและการชักชวนใดๆ ของ ก.ล.ต.  มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไปนั้น ต้องถือว่าเป็น "จรวด" อีกลูกหนึ่งที่เข้าโจมตีเหรียญดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ที่นักลงทุน หรือคนเล่นบิทคอยน์ หวังว่า วันหนึ่งมันจะกลายเป็น "เงินดิจิทัล" ที่สามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนเงินเฟียตหรือ "เงินกระดาษ" ที่ใช้กันทั่วโลกมานานได้ 

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยเองยังไม่ได้ห้ามการ "ลงทุน" ในบิทคอยน์ ที่ยังคึกคักทั่วโลกแม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้าง อานิสงค์จากการที่รัฐบาลของประเทศใหญ่ๆ หลายแห่ง รวมถึงจีนที่  "แบน" บิทคอยน์อย่างสิ้นเชิง รวมถึงการทำเหมืองด้วย

ผมคงไม่ต้องพูดซ้ำว่า บิทคอยน์นั้นมีคุณสมบัติไม่พอที่จะเป็นเงินที่จะใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว และในไม่ช้า รัฐบาลของหลายๆ ประเทศก็คงออกเหรียญของตนเองเช่น หยวนคอยน์หรือบาทคอยน์ เพื่อใช้เสริมหรือแทนเงินเฟียตของตนเอง แต่บิทคอยน์เองก็มีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ มันเหมือนกับ "ทองดิจิทัล" ที่มีค่าในแง่ที่สามารถจะเก็บรักษาความมั่งคั่ง และใช้เป็น "เงินสำรอง" ของบริษัท หรือของประเทศ หรือแม้แต่บุคคลธรรมดา ได้  เพราะมันมีจำนวนจำกัด และจะไม่เฟ้อจนมีค่าลดลงมากแบบเงินเฟียตที่มีการพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ โดยรัฐบาล

กระนั้น ในประเด็นนี้ ผมยังคิดว่า บิทคอยน์ไม่น่าจะไปได้ถึงจุดนั้นอย่างกว้างขวาง เหตุผลก็เพราะว่าบิทคอยน์ยังไงก็คงไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับทองคำที่มีมานานกว่า 5-6,000 ปี และทุกคนบนโลกเห็นว่ามันมีค่าที่แท้จริง และไม่มีคนทำลายหรือทำให้มันหายไปได้ การขุดก็ไม่ง่ายและต้องมีต้นทุนสูงพอๆ กับราคาของมันในตลาด นี่ก็แตกต่างจากบิทคอยน์หรือเหรียญดิจิทัลต่างๆ ที่ "เสก" ขึ้นมาได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก คือ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เขียนขึ้นมา หรือบางทีในอนาคต ก็อาจจะ "หาย" ไปได้ในเสี้ยววินาทีด้วยวิธีเดียวกัน

คำถามก็คือ ถ้าบิทคอยน์ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแทนทั้งเงินและทอง แล้วมันเป็นอะไรกันแน่ ทำไมจึงมีมูลค่ามหาศาล คำตอบของผม "ในขณะนี้" ก็คือ มันคือเครื่องมือของการเก็งกำไร พูดให้เท่ๆ "เหรียญ" อย่างบิทคอยน์ หรือเหรียญอื่นๆ รวมถึงเหรียญที่เอาไปใช้ประโยชน์เฉพาะ เช่น ไปซื้อหรือรับบริการจากผู้ให้บริการรายอื่นนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเหรียญที่คน "เอามาเล่นเก็งกำไร" หรือ "เล่นการพนัน" ถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่ายๆ ก็คือ เหรียญเหล่านั้นคล้ายๆ กับ "ชิพคาสิโน" ที่คนเข้าไปเล่นการพนัน จะต้องซื้อจากคาสิโนเพื่อที่จะเข้าไปเล่น แน่นอนว่าคนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ก็จะขาดทุน บางคนก็อาจจะกำไร แต่คนที่น่าจะกำไรมหาศาลโดยแทบไม่ต้องเสี่ยงก็คือ เจ้าของคาสิโน ซึ่งในความคิดของผมก็คือ "คนที่ผลิตเหรียญดิจิทัล" ให้คนเข้ามาซื้อเพื่อที่จะเล่น เหตุเพราะต้นทุนการผลิตต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของเหรียญที่ตนเองจะได้ 

คนที่ผลิตเหรียญหรือ "เปิดคาสิโน" นั้น ไม่ทุกรายที่จะทำเงิน ถ้าคนไม่เข้ามาเล่น มา "ซื้อชิพ" ก็ไม่มีรายได้ และอาจขาดทุนได้ วิธีทำเงินนั้นจึงอยู่ที่การ "สร้างสตอรี่" ว่า คาสิโนนั้นมีคนสนใจเข้าไปเล่นมาก เพราะคนอยากเล่น อยากมีสิทธิพิเศษที่หาได้ยาก เช่น เข้าไปเล่นเกม มีสิทธิเข้าชมคอนเสิร์ตพิเศษสุด เข้าไปท่องเที่ยวซื้อของใน "เมตาเวิร์ส" เป็นต้น นี่คือ คนที่สนใจอยากทำกิจกรรมจริงๆ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นคนจำนวนน้อยมาก ไม่พอที่จะทำให้คนเข้าคาสิโนมากและเจ้าของทำกำไรได้ สิ่งที่จะดึงดูดคนทั่วไปจริงๆ ก็คือ คนที่จะเข้าไปซื้อขายสิทธิ หรือเหรียญเหล่านั้นเพื่อ "เก็งกำไร" ยิ่งถ้าคิดว่าจะมีคนสนใจอยากได้เหรียญมาก พวกนักเก็งกำไรก็จะเข้าไปดักซื้อก่อนเพื่อจะขายต่อในราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น เหรียญหรือชิพที่จะประสบความสำเร็จอย่างน้อยจะต้องสร้างภาพว่า เหรียญจะเป็นที่ต้องการ และราคาเหรียญจะต้องปรับตัววิ่งขึ้นโดดเด่น วันเดียวกำไร 10-20% หรือบางทีเป็น 100% เลยจะยิ่งดี 

การ "ปั่น" หรือ "สร้างราคาเทียม" ให้กับเหรียญหรือชิพนั้น ในยามที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดเหรียญซบเซาคงทำไม่ได้ง่ายนัก แต่ในยามที่ "นักลงทุนรุ่นใหม่" ทั้งโลกกำลังคลั่งไคล้การลงทุน การปั่นเหรียญก็ทำได้ไม่ยากนัก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ดูเหมือนว่ากฎหมายการปั่นราคาเกี่ยวกับเรื่องของเหรียญยังไม่ชัด ไม่ต้องพูดถึงคนที่คอยตรวจตราแบบในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่มี ดังนั้น การทำราคาโดยการไล่ซื้อต่อเนื่อง จึงน่าจะได้ผลดีมาก ที่สำคัญคือ เหรียญมักจะ "ไม่มีพื้นฐาน" เชิงเศรษฐกิจที่จะคำนวณหรือประเมินได้ว่า อะไรคือราคาที่เหมาะสม ราคาที่ขึ้นไปใน "รอบแรก" ก็มักจะดึงดูดให้ "คนนอก" หรือนักเล่นทั่วไปสนใจเข้าไปซื้อซึ่งก็ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นไปอีก จนถึงจุดหนึ่ง การปั่นโดย "สปอนเซอร์ หรือเจ้ามือ" ก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าเหรียญนั้นถูก "Corner" หรือไล่ซื้อจนหมด ราคาก็จะวิ่ง "ทะลุฟ้า" และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ ตั้งแต่เหรียญระดับโลกจนถึงเหรียญที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศไทย

ถ้ายกเรื่องของการปั่นเหรียญออกไป ถามว่าผมสนใจที่จะเข้าลงทุนในเหรียญดิจิทัลหรือไม่ คำตอบผมซึ่งยังอิงกับอุปมาอุปไมเรื่องชิพคาสิโน ก็คือ ผมจะยังคงไม่สนใจเลยโดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

ข้อแรก การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของเหรียญแทบทั้งหมดนั้นมักจะทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีธุรกิจ ไม่มีคนทำงานผลิตสินค้าหรือบริการ ที่จะทำให้เกิดรายได้ มีกำไร สามารถจ่ายปันผลให้กับนักลงทุน เราเข้าไปซื้อเพราะหวังว่าราคาจะขึ้นไป เพราะมีคนต้องการเหรียญมากกว่าคนต้องการขาย แต่เราก็ไม่มีทางรู้ว่าคนเหล่านั้นต้องการเหรียญเพื่ออะไร กี่คน และมีกี่คนที่ต้องการเก็งกำไรแบบเรา ดังนั้น จึงผิดหลักการ VI อย่างสิ้นเชิง เพราะเราไม่รู้มูลค่าที่แท้จริงของเหรียญก่อนที่จะลงทุน

ข้อสอง รายละเอียดว่าเหรียญแต่ละอันใช้ทำอะไรได้ และการผลิตเพิ่มหรือลดจำนวนเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างนั้น ผมคิดว่าเข้าใจยาก นอกจากนั้น เจ้าของคาสิโนหรือผู้ผลิตเหรียญหรือชิพออกมาขายนั้น มักจะต้องใส่เกณฑ์หรือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยแก่ตนเองมากที่สุด ให้อำนาจกับตนเองที่จะทำอะไรต่างๆ ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเราเข้าไปเล่น "โอกาสที่เขาจะรวย และเราจะจน จะมีมากกว่าปกติ" หลายๆ ครั้ง ผมเองก็แปลกใจเมื่อได้ข่าวว่า เหรียญหรือชิพที่ว่า ต้องไม่หายไป และกำหนดตัวตนได้เสมอนั้น "ถูกเผา" ไป 90% โดยคนที่ควบคุมได้ ทุกวันนี้ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดที่ว่า  เหรียญอย่างบิทคอยน์นั้น "ไม่มีใครควบคุมได้" จึงทำให้มันมีค่า หรือนี่เป็นเหรียญเดียวที่เป็นแบบนั้นหรือเปล่า? ส่วนเหรียญอื่นๆ นั้นต่างก็มีคนคุม

ข้อสาม เมื่อ 3-4 ปีก่อน เฟซบุคเคยพยายามออกเหรียญ Libra (ต่อมาเปลี่ยนเป็น Diem) ที่จะนำมาใช้เป็นเงินดิจิทัล โดยมีบริษัทยักษ์ระดับโลกหลายแห่งจะเข้าร่วมรับเงินนี้ในการซื้อขายสินค้าด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากติดต่อกับหน่วยงานและรัฐบาลหลายแห่ง ก็พบว่า ไม่มีใครสนับสนุนจนต้องเลิกโครงการไป ในความคิดของผม ขนาดเฟซบุคที่มีความพร้อมมากที่สุดรายหนึ่งก็ยังยอมแพ้ ดังนั้น บิทคอยน์หรืออีกหลายๆ เหรียญที่หาสปอนเซอร์ไม่พบ ก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตจนไปไม่รอดได้ 

นี่ไม่ต้องพูดถึงเหรียญเล็กเหรียญน้อยที่ออกโดยบริษัทไทย ที่ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ ที่ในอนาคตอาจจะมีปัญหาต้องล้มเลิกไป แล้วเหรียญจะไปอยู่ไหน และจะเหลือค่าอะไรได้ ว่าที่จริง เราเคยได้ยินข่าวอยู่เนืองๆ ว่า มีเหรียญบางอย่างที่คนผลิตทำออกมาขายทำกำไรเสร็จแล้ว ก็หนีหายไปทันที นี่ก็คือความเสี่ยงของการเล่นกับเหรียญที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง

ข้อสี่ ก็คือเรื่องของการแฮ็คหรือขโมยเหรียญหรือการเพิ่มจำนวนเหรียญโดยใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถด้าน IT ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ กฎหมายก็อาจจะคุมไม่ถึง หรือบางทีก็หาตัวคนผิดไม่พบ แต่เขาได้เงินไปแล้ว และปัญหาอีกสารพัดที่ถ้าเราประสบอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย นี่ก็คือความเสี่ยงที่เราไม่รู้  ซึ่งนี่อาจจะรวมไปถึงการโกงโดยคนที่คุมระบบอยู่ก็ได้

สุดท้ายก็คือ ทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวผมเองที่อาจจะตามกระแสหรือความรู้ใหม่ ๆ ไม่ทัน หรือมีความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงบางอย่าง ผมไม่ปฏิเสธ ที่จริงผมขี้เกียจเรียนรู้ในสิ่งที่ผมคิดว่า "ยากเกินไป" อยู่แล้ว เพราะของแบบนี้เราอาจจะผิดหรือพลาดง่าย ผมชอบอะไรที่ง่าย ๆ แบบที่บัฟเฟตต์พูดว่า หารั้วสูง 3 ฟุต เพื่อจะกระโดดข้ามดีกว่าพยายามกระโดดข้ามรั้ว 6 ฟุต เพราะไม่มีใครให้รางวัลการกระโดดข้ามรั้วสูง


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้