TTB กำไรไตรมาสแรก 3.19 พันล้านบาท ขยายตัว 14.8% จากการควบคุมค่าใช้จ่าย และตั้งสำรองลดลง

1000 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TTB กำไรไตรมาสแรก 3.19 พันล้านบาท ขยายตัว 14.8% จากการควบคุมค่าใช้จ่าย และตั้งสำรองลดลง

บมจ. ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่มีกำไรสุทธิ 2,782 ล้านบาท โดยธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 12,409 ล้านบาท ลดลง 3.6% YoY ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของยอดเงินให้สินเชื่อ เนื่องจากธนาคารเน้นการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ท่ามกลางการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทาย

โดยในไตรมาสแรก สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เติบโต 1.2% และ 0.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่กลับลดลง 5.8% เนื่องจากมีการชำระคืนจากสินเชื่อหมุนเวียน ส่งผลให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,366 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเพียง 0.4% 

ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 2.91% ลดลง 7 bps จาก 2.98% ในไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 9 bps จาก 3.00% ในไตรมาสแรกปีก่อน (YoY) ส่วนใหญ่เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อลดลง

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม กลุ่มลูกค้ารายย่อยยังคงชะลอตัว ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว  

โอกาสนี้ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTB ชี้แจงว่า ภสาพรวมผลดำเนินงานไตรมาสแรกถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตสธูงกว่าปีที่ผ่านมา ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การเติบโตก็จะยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง เน้นเฉพาะสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้าน ซึ่งธนาคารมีความชำนาญและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำตลาด 

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เปิดตัวบริษัทลูก ทีทีบี คอนซูมเมอร์ ตามแผนการปรับโครงสร้างหลัการรวมกิจการ โดย ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จะเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 5% ของสินเชื่อรวม ธนาคารจึงมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกจากฐานลูกค้ารายย่อยที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหลังการรวมกิจการ 

ทั้งนี้ การกลับมาเติบโตสินเชื่อ ทั้งในส่วนของธนาคาร และจากทีทีบี คอนซูมเมอร์ จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของรายได้ดอกเบี้ย และอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อในช่วงถัดไป รวมถึงเป็นปัจจัยหนุนการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการด้านรายได้ (Revenue Synergy) จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการอื่น ๆ ให้กับลูกค้าในอนาคตด้วยเช่นกัน

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ จากการที่ธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อมาโดยตลอด ส่งผลให้คุณภาพพอร์ตเป็นไปตามเป้าหมายและมีสัดส่วนหนี้เสียต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ขณะที่สินเชื่อภายใต้โปรแกรมให้ความช่วยเหลือก็ทยอยลดลงเป็นลำดับ โดยลูกค้าที่ออกจากโปรแกรมไปส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ ได้ตามปกติ ทั้งยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา อย่างไรก็ดี ธนาคารจะยังคงดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างเข้มงวดและตั้งสำรองฯ ระดับสูงต่อไป เพื่อความรอบคอบและคงฐานะการเงินให้มีความแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 42,144 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่สัดส่วนหนี้เสียลดลงเล็กน่้อย มาอยู่ที่ 2.73% หนุนให้ในไตรมาสแรก ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 4,808 ล้านบาท ลดลง 4.2% QoQ และ 12.3% YoY แต่ถือเป็นการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ และเพียงพอท่ี่จะรองรับความเสี่ยง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียที่เพิ่มจาก 129% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 132%  ขณะที่ความเพียงพอของเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม  โดยสิ้นไตรมาสแรก สัดส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.4% และ 15.4% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้