KBANK กำไรไตรมาสแรก 1.12 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 5.5% ตามการเติบโตของสินเชื่อ

862 จำนวนผู้เข้าชม  | 

KBANK กำไรไตรมาสแรก 1.12 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 5.5% ตามการเติบโตของสินเชื่อ

บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)  ราว 5.50% และ 13.23% ตามลำดับ เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3,618 ล้านบาท หรือ 12.86% ตามการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin - NIM) อยู่ที่ 3.19% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 3,032 ล้านบาท หรือ 25.49% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 859 ล้านบาท หรือ 5.20% หลัก ๆ มาจากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถรองรับความต้ องการของลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการตลาด รวมถึงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss - ECL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนจำนวน 686 ล้านบาท หรือ 7.93%

สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) สิ้นไตรมาสแรก อยู่ที่ระดับ 3.78% ใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน เพราะธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ 18.34% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งอยู่ที่ 16.35% 

ซึ่งนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK ยอมรับว่า ภาพรวมผลดำเนินงานไตรมาสแรกถือได้ว่า สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่ยังคงมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้จะมีแรงหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายและมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ แต่การใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการขยับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จากการเร่งตัวของราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิต

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือปีนี้ เธอมองว่า เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่  โดยยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยง อย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทิศทางราคาพลังงาน และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องมีการดูแลคุณภาพสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้