1335 จำนวนผู้เข้าชม |
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี (Gulf Renewable Energy) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% ลงนามในสัญญาความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน และจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษาและลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโครงการพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ รวมไปถึงธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานต่างๆ เช่น ระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในอนาคต ร่วมกับ บมจ. กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนเท่ากัน ฝ่ายละ 50%
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 2 บริษัทฯ โดยอาศัยจุดแข็งจากความชำนาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้า กับความกว้างขว้างด้านเครือข่ายธุรกิจของกลุ่ม GULF และจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร และธุรกิจก่อสร้างของกลุ่ม GUNKUL มาใช้ต่อยอดสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ให้บรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายใน 5 ปี สอดคล้องกับกรอบแผนพลังงานชาติที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050
นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของ GULF และยังตอบโจทย์ของลูกค้ารายใหญ่อย่างกลุ่มผู้ให้บริการรายใหญ่ (Hyperscaler) ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางพลังงานโลก
ขณะเดียวกัน นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน GUNKUL เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญของ GUNKUL ที่จะต่อจิ๊กซอว์ด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ให้มีกำลังการผลิตถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยอาศัยความชำนาญในธุรกิจสาธารณูปโภค และเครือข่ายธุรกิจของ GULF ทั้งในและต่างประเทศ มาผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญของ GUNKUL ในการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้า ที่ครอบคลุมตั้งแต่โรงไฟฟ้า ระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า จนถึงผู้ใช้ไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด Synergy ร่วมกัน และทำให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานสะอาดรวมสูงตามเป้าที่ทางบริษัทฯ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
นอกจากนั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่ทั้ง 2 กลุ่มจะร่วมกันเปลี่ยนทุกพื้นที่ให้สามารถเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดบนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่รองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในทุกมิติที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะเป็นความร่วมมือที่ไม่ได้จำกัดแค่มิติของสิ่งแวดล้อมแต่รวมไปถึงมิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจผ่านรูปแบบของคาร์บอนเครดิต และใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เพราะปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จากอัตราส่วนของพลังงานสะอาดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ เชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและสร้าง Green Energy Landscape ของประเทศให้เป็นจริงขึ้นมาได้