ยืนยัน ดีลลงทุน KBANK ในธนาคารแมสเปี้ยนในอินโดนีเซียคุ้มค่า แต่ไม่ส่งผลต่องบการเงิน

1724 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยืนยัน ดีลลงทุน KBANK ในธนาคารแมสเปี้ยนในอินโดนีเซียคุ้มค่า แต่ไม่ส่งผลต่องบการเงิน

บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล (KASIKORN Vision Financial Company Pte. Ltd - KVF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไขกับกลุ่มแมสเปี้ยน เป็นที่เรียบร้อย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,556 ล้านบาท ด้วยการซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยน (BMAS) อีก 30.01% เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ KBANK จากที่ถือตั้งแต่ปี 2560 ในสัดส่วน 9.99% เป็น 40%

หลังจากนั้น KVF จะดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Rights Issue) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ KBANK รวมเป็น 67.50% เพื่อช่วยสนับสนุนให้ธนาคารแมสเปี้ยนมีทุนขั้นต่ำ 210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งคาดว่าธุรกรรมต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ ประธานกรรมการ KVF ชี้แจงว่า การซื้อธนาคารแมสเปี้ยนครั้งนี้ จะทำให้ KBANK สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินขั้นต่ำ 700 ล้านเหรียญสหัฐฯ ถือได้ว่า มีความคุ้มค่า เพราะนอกจากจะเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นได้แล้ว ยังเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลในอินโดนีเซีย ทำให้ความต้องการบริการทางการเงินมีแนวโน้มเติบโต สอดรับไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย อีกทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตสู่ความเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคที่แท้จริง ในการเชื่อมโยงธุรกิจกลุ่มประเทศ  AEC  รวมจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (AEC+-3) ที่จะมีพลวัตการเติบโตสูงต่อไปในอนาคต 

ที่สำคัญ BMAS ถือเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีศักยภาพและจุดแข็งในการเข้าถึงกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดย่อม ( SMEs) และเอื้อต่อการเจาะตลาดลูกค้ารายย่อย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด 

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดในเบื้องต้น KBANK จะมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม อย่างกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ ตั้งเป้าเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งสัญชาติไทย และต่างชาติ ที่ลงทุนโดยตรงในอินโดนีเซีย ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับบรรยากาศการค้าและการลงทุนในอินโดนีเซีย พร้อมกับขยายขอบเขตการให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าองค์กร ทั้งบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และบริการบัญชีเงินเดือนสำหรับพนักงานองค์กรด้วย  

ส่วนกลุ่มธุรกิจ SMEs จะมุ่งสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัว ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางการเงิน รวมถึงสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain Financing) เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถเติบโตไปพร้อมกับห่วงโซ่มูลค่าของประเทศและของโลกได้ โดยพร้อมนำเอาความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในการปรับปรุงการชำระเงินและธุรกรรมของธนาคารเพื่อให้สามารถเข้าถึงธุรกิจ SMEs ระดับท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ 

ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายย่อย จะมุ่งเน้นการพัฒนาสินเชื่อดิจิทัล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภค และธุรกิจ MSME จำนวนมากในอินโดนีเซีย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะใช้ K-PLUS ในการให้บริการโมบายแบงก์กิ้งเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกบริการทางการเงิน 

ประธานกรรมการ KVF ทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า ด้วยกลยุทธ์ข้างต้น คาดว่าจะสามารถผลักดัน BMAS ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีนับจากนี้ เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคชวาตะวันออก (East Java) ภายในปี 2570  

ในมุมมองนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากเคทีบีเอส (KTBST) และโนมูระ พัฒนสิน (CNS) มีมุมมองเป็นกลางต่อการซื้อหุ้นเพิ่มใน BMAS อีก 57.51% โดยใช้เงินลงทุนราว 7.6 พันล้านบาท คิดเป็น P/BV ที่ 4.2 เท่า ถูกกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 4.9 เท่า แต่แพงกว่า BBL ซื้อ Permata ที่ 1.77 เท่า  

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ขนาดเล็ก เมื่อเทียบเงินสดในมือ KBANK ราว 50,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบต่อฐานะทางการเงิน รวมถึงยังไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลดำเนินงานของ KBANK เพราะ BMAS มีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 0.8% ของสินทรัพย์ KBANK) ขณะที่สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 0.8% ของสินเชื่อ KBANK) ด้านกำไรสุทธิปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 179 ล้านบาท (คิดเป็นเพียง 0.3% ของกำไรสุทธิ KBANK) ประกอบกับทาง KBANK ยืนยันว่า มีจุดมุ่งหมายต้องการเป็น Strategic partner ทำให้จะไม่มีการซื้อหุ้นเพิ่มเติม และไม่ต้องทำ tender offer แต่อย่างใด  

KTBST ยังคงเลือก KBANK เป็น Top pick กลุ่มธนาคาร จากความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่น เพราะเป็นธนาคารที่เดินหน้าสู่การเป็นผู้ นำด้าน Digital banking อย่างต่อเนื่อง คาดจะเห็นความชั ดเจนปีนี้เป็นต้นไป อีกทั้งยังจะได้ประโยชน์จากสินเชื่อภาคการท่องเที่ยว (สัดส่วนราว 20% ของสินเชื่อรวม) ทยอยฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง รับการเปิดประเทศเต็มรู ปแบบ ขณะที่แนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2 คาดจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการกันสำรองหนี้ฯ ที่ลดลง

ที่สำคัญ ราคาหุ้นยังไม่แพง โดยซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.7 เท่า (เทียบเท่า -1.50SD below 10-yr average P/BV) พร้อมแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายที่ 190.00 บาท อิง P/BV ปีนี้ที่ 0.9 เท่า (-1.00SD below 10-yr average P/BV)

ขณะที่ CNS ยังคงประมาณการกำไรปีนี้ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 12% YoY ขับเคลื่อนจากค่าใช้จ่ายสำรองลดลง สวนทางรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) ที่เพิ่มขึ้นรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ผลักดันให้สินเชื่อ และค่าธรรมเนียมเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นผู้นำด้านการพัฒนา Digital banking เพื่อต่อยอดธุรกิจหลัก และป้องกันการ disrupt รวมถึงเพิ่มช่องทางการเติบโตใหม่อย่างต่อเนื่อง  จึงแนะนำ "ซื้อ" โดยมีราคาเป้าหมาย 180 บาท

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้