จัดพอร์ตหุ้นไทย รับดอกเบี้ยขาขึ้น

2124 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จัดพอร์ตหุ้นไทย รับดอกเบี้ยขาขึ้น

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีมติเสียงแตกเป็น 4 ต่อ 3 เพราะแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อที่เป็นขาขึ้น ทำให้ตลาดคาดว่า อาจเห็นการปรับดอกเบี้ยในประเทศขึ้นเร็วกว่าคาด เพราะมีการประเมินแล้วว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 คาดฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ได้แรงหนุนจาก High Season ของการท่องเที่ยว ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยทุก 1% จะสร้างภาระ 0.5% ของรายได้ครัวเรือน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน น้อยกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อทรงตัวระดับสูงไปเรื่อยๆ จนสร้างภาระ 3.6% ของรายได้ครัวเรือน

ค่ายเคทีบีเอส (KTBST) คาดว่าจะเห็น กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ ในอัตรา 0.50% (ครั้งละ 0.25% ในเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน) จากปัจจุบันที่ 0.50% และคาดจะปรับขึ้นอีก 0.75% (ครั้งละ 0.25%) ภายในครึ่งปีแรกปีหน้า) ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปีหน้า ขยับมาอยู่ที่ 1.75%

ขณะที่บัวหลวง (BLS) และกสิกรไทย (KS) คิดเหมือนกันว่า จะเห็น กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโบบายอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปีนี้ โดย BLS คาดว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนกันยายน หรือเดือนพฤศจิกายน ส่วน KS เชื่อว่า จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ในไตรมาส 3 เพราะ กนง. จำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างดอกเบี้ย และอัตราผลตอบแทนในประเทศกับสหรัฐฯ ไม่ให้กว้างเกินไป รวมถึงเสถียรภาพของค่าเงินบาทด้วย

BLS ยังบอกด้วยว่า การที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ไม่น่ากระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก เพราะกลุ่มหุ้นที่ราคามักเคลื่อนไหวผกผันกับดอกเบี้ย อย่าง ไฟแนนซ์, โรงไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ราคาหุ้นมีการปรับฐานลงมารอแล้วระดับหนึ่ง ทำให้คาดมี Downside ไม่มาก

ในทางกลับกัน หุ้นที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดี คือ ธนาคาร, ประกัน, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, อาหารและเครื่องดื่ม, การแพทย์, และบริษัทที่มีฐานะทางการเงินเป็น Net Cash จะได้ประโยชน์ โดยมี KBANK, BBL, BLA, MAKRO, CPALL, TU, MINT, MAJOR และ M เป็นหุ้น Top Picks

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธนาคารอาจต้องช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการของ ธปท. ต่อไป เพราะเชื่อว่า กนง.ต้องการให้ช่วยกลุ่มเปราะบางแบบตรงจุด มากกว่าช่วยเหลือในวงกว้าง เหมือนช่วงการแพร่ะบาดของไวรัสโควิด-19

ด้าน KS และ KTBST ระบุว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคาร แต่เป็นลบต่อกลุ่มไฟแนนซ์, อสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มที่มีเงินกู้ในระดับสูง เพราะต้นทุนเงินกู้ยืมจะเพิ่มขี้น ขณะที่รายได้ก็อาจกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง

จากการศึกษาของ KTBST พบว่า ธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขึ้นมากที่สุด เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกๆ อัตรา 0.25% จะมี upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ราว 2-4% (ประเมินผลกระทบต่อ NIM อย่างเดียวและยังไม่ส่งผลกระทบต่อ NPL) โดยธนาคารขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากมากไปน้อย คือ BBL, KTB, KBANK และ SCB

สำหรับหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ จะถูกกระทบจากช่องทางในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ในอนาคตมีต้นทุนสูงขึ้น ตามทิศทางดอกเบี้ย ฉุดให้มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เห็นผลชัดเจนปีหน้า เพราะปีนี้แทบทุกรายมีการล็อคอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้กันไปแล้ว ซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์ downside ต่อประมาณการกำไรสุทธิปีหน้าของหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ จะอยู่ที่ 2.7% เมื่อตั้งสมมติฐานว่า กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีนี้และปีหน้า ในอัตรา 0.5% และ 0.75% ตามลำดับ พบว่า AEONTS ถูกกระทบมากที่สุด รองลงไปเป็น THANI, MTC, TIDLOR, KTC และ SAWAD ไล่เรียงกันตามลำดับไป

ขณะที่ SINGER และ AMANAH จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย เพราะ AMANAH พึ่งพิงเงินทุนส่วนใหญ่จากบริษัทแม่ (iBank) ซึ่งคิดดอกเบี้ยคงที่ในอัตรา 4.0% ส่วน SINGER มีความจำเป็นของเงินกู้ยืมที่น้อยลงตามฐานทุนที่เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลดำเนินงานมีโอกาสขยายตัวทำสถิติใหม่ จึงเลือก SINGER เป็น Top pick หุ้นกลุ่มการเงิน

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มที่พึ่งพิงเงินกู้ในระดับสูง อย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ GULF, BGRIM, RATCH, CKP, SSP จะถูกกระทบจากต้นทุนทางการเงินในการพัฒนาโครงการในอนาคตสูงขึ้น เพราะการดำเนินโครงการปกติต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้การลงทุนต้องพิจารณาความเข้มแข็งของฐานะทางการเงิน สัดส่วนหนี้ รวมถึง Valuation ประกอบการตัดสินใจด้วย

ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะกระทบทั้งด้านอุปสงค์ (ผู้บริโภคชะลอซื้อออสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น) และด้านอุปทาน (ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น) ฉุดกำไรขั้นต้น (GPM) ในอนาคตให้ปรับลดลง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีฐานลูกค้าระดับล่างในสัดส่วนที่สูง อย่าง LPN, PSH คาดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

สำหรับกลยุทธ์ลงทุนระยะสั้น ทั้ง 2 ค่าย คิดคล้ายๆ กับโนมูระ พัฒนสิน (CNS) ที่แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่ง ลงหุ้น Defensive ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ อาทิ BDMS, BH, CPF, TIPH, BLA และอีกส่วนลงในหุ้นที่ outperform ตลาด อย่างกลุ่มส่งออก กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้ประโยชน์เงินบาทอ่อน (GFPT, CPF, TU, SAPPE, ASIAN, MEGA, KCE) กลุ่มโรงแรม โรงพยาบาล พาณิชย์ ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ (Reopening) และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจของจีน (China Plays) อย่างกลุ่มเดินเรือ กลุ่มโภคภัณฑ์ (TOP, BCP, TTA, PSL, IVL, PTTGC, HANA) ได้

อย่างไรก็ตาม KS มีความเห็นว่า การที่ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับฐานลงมาระดับหนึ่ง ถือเป็นจุดที่สามารถทยอยซื้อสะสมหุ้นกลุ่มนี้ได้ เพราะกำไรของกลุ่มแตะระดับต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าอัตรากำไรจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการขึ้นค่า Ft สำหรับรอบที่ 2 และ 3 ในครึ่งหลังปีนี้ อีกทั้งยังประเมินด้วยว่า Bond yields ผ่านจุด Peak แล้ว โดยมีหุ้นแนะนำ คือ GULF,  GPSC, BGRIM

เช่นเดียวกับหยวนต้า (YUANTA) ที่มองว่า การที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ส่งผลบวกต่อกลุ่มประกัน และธนาคาร ขณะเดียวกัน แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร เป็นบวกต่อหุ้นพลังงานต้นน้ำ และผู้ผลิตอาหาร ดังนั้นจึงคาดว่าหุ้นที่จะ Outperformed ในสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบด้วย BLA, THREL, KBANK, BBL, BANPU, CPF, GFPT และ TU  

ขณะที่ทองคำเริ่มมีความน่าสนใจในการเข้าสะสมมากขึ้น เนื่องจากประเมินว่าตลาดจะเริ่มมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงสูงขึ้น โดยแนะนำให้สะสมทองคำในระดับ 10-15% ของพอร์ต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้