ถึงเวลาแบ่งเงินลงทุน มาหุ้นกู้ ตราสารหนี้ รับดอกเบี้ยขาขึ้นครึ่งปีหลัง

1444 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถึงเวลาแบ่งเงินลงทุน มาหุ้นกู้ ตราสารหนี้ รับดอกเบี้ยขาขึ้นครึ่งปีหลัง

ถึงวันนี้ ดูเหมือนตลาดการเงินบ้านเราจะเริ่มคาดหมายกันแล้วว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนสิงหาคมมากขึ้น จากหลายเหตุผล

ประการแรก การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ (Demand-pull Inflation) ในระยะต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อตามมา เพราะ ธปท. มีข้อมูลว่า นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนปรับสูงขึ้น 850 บาทต่อเดือน (3.6% ของรายได้) ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ย 1% จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 120 บาทต่อเดือน (0.5% ของรายได้)

ประการที่สอง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อ) ของไทยปรับลดลง อีกทั้งยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ กับบ้านเรา (spread) มีแนวโน้มถ่างตัวมากขึ้น โดยหาก กนง. ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ภายในสิ้นปีนี้ ดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจสูงกว่าบ้านเรา 2–3% (เพราะแรงกดดันของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทำให้ตลาดคาดหมายว่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงถึง 0.75% ในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งใน 3 ครั้งหน้า ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สิ้นปีนี้ อาจขยับขึ้นไปสูงกว่า 3.25%) ซึ่งจะกดดันให้ Fund Flow ไหลออก และเงินบาทอ่อนค่า จึงทำให้ในครึ่งปีหลังนี้ มีความเป็นไปได้สูงมากว่า จะเห็น ดอกเบี้ยในประเทศมีทิศทางขาขึ้น

ล่าสุด มีการคาดหมายจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ว่า น่าจะเห็น กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก ในอัตรา 0.25% ในไตรมาส 3 นี้ ขณะที่ฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัส (ASPS) เชื่อว่า ภายในปีนี้จะเห็น กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2-3 ครั้ง คิดเป็นอัตรา 0.50-0.75% เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ข้างต้น


สิ่งที่ตามมา คือ SCB CIO  ประเมินภาพการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นโลกจะยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงแนะนำให้เริ่มทยอยลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและกองทุนตราสารหนี้ เพราะระดับราคาปัจจุบันเริ่มน่าสนใจ จากการที่ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว เริ่มปรับขึ้นถึงระดับที่คาดว่าตอบรับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งตลอดปีนี้ไปแล้ว ทำให้การปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรและหุ้นกู้เอกชนจากนี้ไป จะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 5 เดือนแรกของปี โดยความผันผวนน่าจะทยอยลดลง เพราะคาดว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสูดได้ในไตรมาส 2 และกำลังจะทยอยปรับลดลงในระยะข้างหน้า ถึงแม้อัตราการปรับลงของเงินเฟ้ออาจช้ากว่าที่คาด จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย–ยูเครน กับวิกฤตพลังงานและอาหารที่ยังอาจเกิดขึ้นได้

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนตราสารหนี้ จะต้องพิจารณาทั้งสัดส่วนการลงทุน และอายุเฉลี่ยของตราสาร ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นรุนแรงก่อนหน้า ควรเน้นตราสารที่มีอายุเฉลี่ยที่สั้นไม่เกิน 1-2 ปี แต่ในระยะข้างหน้า แนะนำให้เพิ่มอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ขึ้นได้ โดยทยอยเพิ่ม duration ของพอร์ตลงทุน โดยหากลงทุนเอง แนะนำให้ลงทุนหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป เพราะคาดว่าจะมีความสามารถชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมแนะให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูง แต่มีระดับ Credit rating ต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) รวมไปถึงตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Non- Investment Grade) เพื่อปิดจุดเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดจากเศรษฐกิจชะลอตัว

แต่หากเป็นการลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ เชื่อว่า ผู้จัดการกองทุนจะมีการคัดเลือกตราสารหนี้ทั้งในไทยและระดับโลกที่มีคุณภาพดี (Investment Grade) อยู่แล้ว เพราะตราสารหนี้ประเภทนี้จะมี downside risk ที่น้อยกว่าช่วงต้นปี

ซึ่งการที่แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศกำลังกลับเป็นขาขึ้น น่าจะเอื้อให้บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ทั้งเพื่อทดแทนรุ่นเก่าที่หมดอายุแล้ว และเพื่อลงทุนขยายกิจการ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า มูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวในปีนี้ จะอยู่ประมาณ 1.1-1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นยอดการออกหุ้นกู้ที่สูงกว่าระดับ 1 ล้านล้านบาทติดต่อกันเป็นปีที่ 2

โดยประเด็นที่จะต้องติดตามหลังจากนี้ ก็คือ หุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวที่กำลังจะทยอยครบกำหนดอีกประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท ในช่วงที่เหลือปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปี 2567 โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่อสังหาริมทรัพย์ ไฟแนนซ์ พลังงาน ไอซีที และพาณิชย์ ตามลำดับ 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้