โบรกเกอร์ ฟันธง ธุรกิจไทยที่ค้าขายในเมียนมาร์ กระ่ทบจากมาตรการควบคุมเงินทุนน้อย

1961 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โบรกเกอร์ ฟันธง ธุรกิจไทยที่ค้าขายในเมียนมาร์ กระ่ทบจากมาตรการควบคุมเงินทุนน้อย

หลังจากธนาคารกลางเมียนมาร์ออกคำสั่งให้บริษัทฯ และผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อดูแลปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง 

โดยสำนักข่าวบลูมเบอร์ก (Bloomberg) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาร์มีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ แปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าต (สกุลเงินท้องถิ่น) ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าต ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินจ๊าต พร้อมทั้งห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันประกอบอาหาร เพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ  

ประเด็นข่าวดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นที่มีการทำธุรกิจในเมียนมาร์หลายตัว โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และพาณิชย์ หลายตัว อาทิ บมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) บมจ.โอสถสภา (OSP) บมจ.เมกา ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) ถูกขายเพื่อลดความเสี่ยงออกมาตลอด 2 วัน (18-19 กรกฏาคม) ที่ผ่านมา

ล่าสุด ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที (KTBST) ได้สอบถามไปยังบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจในเมียนมาร์ และพบว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มผลดำเนินงานของบริษัทฯ ดังนั้น การปรับตัวลงของราคาหุ้น ถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการซื้อสะสมหุ้นข้างต้น เพื่อการลงทุนระยะยาว  

ทั้งนี้ บริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากพม่าอย่างมีนัยสำคัญ เรียงตามลำดับสัดส่วนรายได้ ในเมียนมาร์จากมากไปน้อย ได้แก่ MEGA (ซื้อ/ เป้า 67.00 บาท), OSP (ถือ/ เป้า 37.00 บาท) , CBG (ถือ/ เป้า 107.00 บาท)

โดย MEGA มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาร์อยู่ที่ 37% ของรายได้รวม แบ่งเป็นรายได้จากสินค้ากลุ่ม pharmaceutical 65% ที่เหลือเป็นรายได้จากสินค้าจำเป็นกลุ่ม consumer products ซึ่งหากรายได้ส่วนนี้ต่ำกว่าคาด 10% จะกระทบกำไรสุทธิทั้งปีเพียง 0.8% เท่านั้น ด้านเงินจ๊าดที่อ่อนค่าก็ส่งผลกระทบจำกัด เพราะ MEGA มีรายรับในเมียนมาร์เป็นเงินจ๊าด แต่ตั้งราคาขายในสัญญาการซื้้อขายที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การอ่อนค่าของเงินจ๊าดส่งผลให้ราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับเงินกู้ต่างประเทศ บริษัทฯ ไม่มีเงินกู้ต่างประเทศ จึงทำให้ผลกระทบมีน้อย ทำให้ฝ่ายวิจัยฯ ยังชอบ MEGA (ซื้อ/เป้า 67.00 บาท) จากแนวโน้มกำไรที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป อีกทั้งธุรกิจได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อน และกระแสใส่ใจสุขภาพที่เติบโตเพิ่มขึ้นช่วยหนุนการเติบโต

ส่วน OSP (ถือ/เป้า 37.00 บาท) มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาร์อยู่ที่ 10% ของรายได้รวม เพราะมีโรงงานผลิตเครื่องดื่มในเมียนมาร์ ทำให้มีรายรับและรายจ่ายเป็นเงินจ๊าด จึงไม่น่ากระทบมาก แต่เนื่องจากธุรกิจในเมียนมาร์มีเงินกู้ต่างประเทศ 27.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะบริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามนโยบายทางการ

ขณะที่ CBG (ถือ/เป้า 107.00 บาท) มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาร์อยู่ที่ 10% ของรายได้รวม โดยซื้อขายเป็นเงินบาท การส่งออกสินค้าไปเมียนมาร์ยังดำเนินการได้ตามปกติ อีกทั้งธุรกิจในเมียนมาร์ไม่มีเงินกู้ต่างประเทศ จึงมองว่า CBG ได้รับผลกระทบจำกัด

สำหรับบริษัทที่มีผลดำเนิ นงานในเมียนมาร์ แต่สัดส่วนรายได้ไม่มีนัยสำคัญ ประกอบไปด้วย AEONTS (ซื้อ/เป้า 200.00 บาท), AMATA (ซื้อ/เป้า 23.50 บาท), CPF (ซื้อ/เป้า 30.00 บาท), SAPPE (NR), TVO (ถือ/เป้า 33.50 บาท), PTTEP (ซื้อ/เป้า 190.00 บาท) และ SCC (ซื้อ/เป้า 440.00 บาท)

โดย AEONTS เริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อในเมียนมาร์แบบจำกัด โดยอาศัยการรับจ่ายเงินในประเทศเท่านั้น และไม่สามารถนำเงินออกจากเมียนมาร์ได้ อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อยังมีขนาดต่ำมาก เพียงแค่ 0.3% ของสินเชื่อรวม และ 0.5% ของกำไรรวม ส่วน AMATA มีเงินฝากในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ คงเหลือประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินทุนที่ยังไม่ได้ลงทุนในนิคมเมียนมาร์ที่ถูกพักการดำเนินงานตั้งแต่รัฐประหาร ขณะที่ตัวอื่นๆ มีรายได้จากเมียนมาร์แต่ไม่มีนัยยะ

ด้านทิสโก้ (TSC) มีการตรวจสอบหุ้นที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ พบว่า ธุรกิจที่มีรายได้จากเมียนมาร์เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ MEGA (33%+), PTTEP (13%), OSP (11%), CBG (8%) และ CPF (3%) ให้ความเห็นว่า MEGA แม้จะมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด แต่ MEGA ไม่มีหนี้เงินกู้ ขณะที่หนี้การค้าส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเงินจ๊าด จึงอาจได้รับผลกระทบจากการแปลงค่าเงิน และความล่าช้าในการจ่ายชำระคืนหนี้

สำหรับ CBG คาดว่าจะได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 3 จากกฎหมายใหม่ของเมียนมาร์ที่เข้มงวดในการนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยกำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตทุกครั้งในการนำเข้า ทำให้น่าจะเห็นความล่าช้าในส่งสินค้ามากขึ้น กระทบต่อยอดขายระยะสั้น แต่ในวงจำกัด

โดยรวม จึงมองเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นข้างต้นในระยะสั้น แต่คาดผลกระทบค่อนข้างจะจำกัด และเป็นจังหวะ "ซื้อ” สำหรับหุ้น CBG และ CPF โดยให้ราคาเป้าพื้นฐาน 137 บาท และ 32 บาท ตามลำดับ รวมถึง AEONTS แทบไม่ได้ดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์ มาตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีการตั้งสำรองฯ ครบหมดแล้ว 100% จึงคงราคาเป้าพื้นฐานที่ 260 บาท ตามเดิม    

ส่วนเคจีไอ (KGI) ตรวจสอบหุ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม พบว่า OSP และ CBG มีการส่งออกไปเมียนมาร์ประมาณ 12-13% ของรายได้รวม โดยมีเพียง OSP ที่นอกจากส่งออกไปเมียนมาร์แล้ว ยังมีการตั้งบริษัทร่วมทุน โดยถือหุ้น 51% ในโรงงานผลิตขวดแก้ว ซึ่งโรงงานแห่งนี้ มีหนี้ต่างประเทศราว 20-30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงทำให้ OSP มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น

และเนื่องจากเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้น การส่งออกจึงไม่ถูกระงับ แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะสร้างความยุ่งยากในการแปลงรายได้ จากสกุลเงินจ๊าตเป็นสกุลบาท ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง CBG และ OSP ตั้งราคาส่งออกเป็น บาท/จ๊าต ทำให้มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อชดเชยค่าเงินจ๊าตที่อ่อนลงมาตลอด แต่หากเงินจ๊าตอ่อนค่าลงอย่างมากในอนาคต อาจไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้จำกัด ซึ่งจะกดดันกำไรขั้นต้นตามมา

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการควบคุมเงินทุน ทำให้ค่าเงินจ๊าตผันผวนน้อยลงได้จริง จะช่วยจำกัดผลกระทบต่อการส่งออกไปยังเมียนมาร์ ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลของ Bloomberg จะพบว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบเงินจ๊าต เปลี่ยนแปลงแค่ 6% ในรอบเดือนที่ผ่านมา และ 8% จากต้นปี

แต่เนื่องจากการส่งออกไปเมียนมาร์เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของ OSP เพราะธุรกิจส่วนนี้เติบโต 20% ในปีที่ผ่านมา และในไตรมาสแรก ขณะเดียวกันบริษัทฯ บันทึกส่วนแบ่งกำไร 51% จากโรงงานขวดแก้วเข้ามาในงบรวมของบริษัทฯ ด้วย  โดยบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 101 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และ 37 ล้านบาท ในไตรมาสแรก ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่า ค่าเงินบาท/จ๊าต อ่อนลง 5% จะทำให้ OSP ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณราว 40-50 ล้านบาท

ซึ่งหากตีตวามในกรณีฐาน KGI ระบุว่า มาตรการควบคุมเงินทุนของเมียนมาร์อาจทาให้ราคาสินค้าส่งออกบางรายการแพงขึ้น แต่ CBG และ OSP อาจไม่สามารถขึ้นราคาขายปลีกเพื่อชดเชยการอ่อนค่าของเงินจ๊าตได้ ทำให้กำไรขั้นต้นจากธุรกิจส่งออกลดลงในระยะสั้น จนกว่าสถานการณ์จะมีเสถียรภาพมากขึ้น จึงขอรอดูภาพที่ชัดเจนอีกครั้ง

แต่ในเบื้องต้น CBG ดูเหมือนจะได้ผลกระทบจำกัดกว่า OSP เพราะ CBG ใช้กระป๋องอลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ในการส่งออกเครื่องดื่มชูกำลัง โดยอลูมิเนียมถือเป็นต้นทุนหลัก คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 60% ดังนั้น เมื่อราคาอลูมิเนียมปรับตัวลงมา 35% จากจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ทำให้รายได้จากเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 65% ของรายได้รวม จึงน่าจะหนุนให้กำไรขั้นต้นรวมค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2

ขณะที่เอเซีย พลัส (ASPS) พุ่งประเด็นมาที่หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 4 บริษัทหุ้นที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ ได้แก่ ITD, NWR, TTCL และ SEAFCO พบว่า ส่วนใหญ่มีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญ ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมองว่าเป็นเรื่องของ Sentiment มากกว่าผลกระทบที่จะเกิดในทางพื้นฐาน

อย่าง ITD มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท แต่ถูกรัฐบาลพม่ายกเลิกสัมปทานตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2563 โดยบริษัทฯ ยังไม่ได้มีการตั้งสำรองด้อยค่าโครงการดังกล่าว เพราะยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลพม่าได้

ส่วน NWR มีลูกหนี้ค่าก่อสร้างโรงแรมในพม่าคงค้างอีกประมาณ 191 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้จะทยอยชำระคืนเงินแก่บริษัทฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ ถึงปี 2579 ตาม Projection กระแสเงินสดของโรงแรมในอนาคต โดยปีนี้ครบกำหนดชำระหนี้ 5 ล้านบาท

ขณะที่ SEAFCO มีการตั้งบริษัทลูกในพม่าคือ ซีฟโก้ เมียนมาร์ โดยบริษัทฯ ถือหุ้น 80% ปัจจุบันไม่มีการรับงานในพม่าแล้ว แต่มีเครื่องจักรทำเสาเข็ม 3 ชุด รถเครน 4 คัน และรถแบคโฮที่รอขาย หรือนำกลับประเทศ

ด้าน TTCL มีการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Ahlone#1 กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ (MW) และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ปีหนึ่งๆ ประมาณ 100 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างลงทุนโรงไฟฟ้า Ahlone#2 กำลังการผลิต 388 MW โดยได้รับ PPA จากรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี 2564 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้

สำหรับ PTTEP (ซื้อ/เป้า 175 บาท) แม้จะมีโครงการในเมียนมาร์หลายโครงการ เช่น ซอติก้า, ยาดานา และเยตากุน แต่ไม่มีเงินกู้ต่างประเทศสำหรับโครงการในเมียนมาร์ ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ด้านรายรับจากโครงการในเมียนมาร์ ทาง PTTEP รับเงินจาก PTT โดยตรงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าบัญชีในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องการรับเงินหรือการถูกบังคับให้แปลงเป็นเงินจ๊าด เช่นเดียวกับด้านรายจ่าย ที่การจ่ายเงินในเมียนมาร์ เป็นเงินจ๊าด โดยแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นจ๊าด สำหรับรายจ่ายของโครงการที่เป็นสกุลต่างประเทศ จะทำจ่ายจากบัญชีนอกเมียนมาร์ ดังนั้นยังสามารถบริหารจัดการได้ตามปกติ

เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มธนาคาร หากอิงจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังเมียนมาร์ ราว 1% ของมูลค่าการส่งออก เบื้องต้น คาดว่า จะมีผลกระทบค่อนข้างจำกัด ส่วนหุ้นกลุ่มการเงิน อย่าง AEONTS (ซื้อ/เป้า 250 บาท) แทบไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะหลังจากการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้หยุดปล่อยสินเชื่อแล้ว ทำให้ปัจจุบันแทบไม่มีสินเชื่อคงค้างแล้ว

ขณะที่ DELTA (ถือ/เป้า 280 บาท) มีโรงงานอยู่ในเมียนมาร์ พื้นที่การผลิต 4.5 พันตารางเมตร คิดเป็น 2% ของโรงงานทั้งในและต่างประเทศรวมกัน โดยโรงงานแห่งนี้ผลิตชิ้นส่วนขั้นกลาง แล้วส่งมาประกอบต่อในไทยเป็นหลัก จึงประเมินว่า จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะไม่ได้มีรายได้จากการขายภายนอกมากนัก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้