1637 จำนวนผู้เข้าชม |
การเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ บมจ. ไทยประกันชีวิต (TLI) สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายประชาชนครั้งแรก (IPO) เมื่อราคาหุ้นยืนใกล้เคียงราคาจองเกือบทั้งวัน
โดยหลังจากเปิดตลาดที่ราคาจอง 16 บาท มีแรงซื้อดันราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 16.30 บาท ในเวลาสั้นๆ หลังจากนั้น มีแรงขายกระจายตัวออกมาเรื่อยๆ กดราคาหุ้นให้แกว่งแคบๆ บริเวณ 15.90-16.10 บาท ทั้งวัน กระทั่งปิดตลาดที่ 15.90 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 10 สตางค์ ด้วยมูลค่าการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นเฉียด 1.03 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะตลาด อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนหลายราย หลังเห็นราคาหุ้นไม่สามารถทะยานเหนือ 16.40 บาทได้ ทำให้เสียโอกาสเข้าคำนวนในดัชนี SET50 ด้วยวิธีการ Fast Track จากเกณฑ์การมีมูลค่าตลาด (Market Cap.) เกิน 1% ของมูลค่าตลาดหุ้นไทย เพื่อรอจังหวะซื้ออีกครั้งหลังจากกระบวนการซื้อคืนหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวน 161.6 ล้านหุ้น เสร็จสิ้นลงไปใน 1 เดือนข้างหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร TLI ไม่กังวลกับราคาหุ้นมากนัก เพราะ 2 เหตุผล คือ มั่นใจในศักยภาพการทำธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งจากรากฐานที่แข็งแกร่งยาวนานกว่า 80 ปี ในธุรกิจประกันชีวิต และการวางยุทธศาสตร์การเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน ด้วยเป้าหมายที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ประกอบกับพื้นฐานหุ้นกลุ่มประกันโดยปกติจะเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่า จึงทำให้การลงทุนระยะสั้นมีความเสี่ยงจากบรรยากาศการลงทุนโดยรวมปีนี้ที่มีความผันผวนสูง
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน TLI มีความสามารถทำกำไรอย่างมั่นคง ดูได้จากอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ระหว่างปี 2562–2564 ที่ 11.3% ขณะที่ผลดำเนินงานปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต เมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 15% โดยมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท และกำไรสุทธิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 8,394 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 25,955 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท เติบโต 14.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)
ที่สำคัญ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ไปเสริมศักยภาพในการสร้างการเติบโต และพัฒนาผลดำเนินงานที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ผ่านการลงทุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยนวัตกรรมที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร รวมไปถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งด้านฐานะการเงิน ทั้งเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ปรับสมดุลของพอร์ตลงทุน และพอร์ตรายได้ ให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในแง่การหารายได้ ปีนี้ บริษัทฯ พร้อมขยายผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันเพื่อสุขภาพ ประกันควบการลงทุน (Unit Linked) และผลิตภัณฑ์ที่ไม่อิงกับดอกเบี้ย เพิ่มมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีกำไรขั้นต้น (margin) สูงกว่าผลิตภัณฑ์ประกันทั่วไป อีกทั้งยังสามารถให้ผลตอบแทนแก่ลูกค้าได้ดีมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้การันตีผลตอบแทนให้กับลูกค้าเหมือนในอดีตก็ตาม
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ปรับพอร์ตการลงทุนหุ้นต่างประเทศแล้วตั้งแต่ต้นปี เพื่อถือเงินสด และรอจังหวะลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โดยรวม
ล่าสุด พอร์ตลงทุนของ TLI มีมูลค่ากว่า 400,000 ล้านบาท หลักๆ เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตสูง สำหรับหุ้นมีสัดส่วน 13% จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15% เพื่อบริหารผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้ระดับ 3-4%
ทั้งนี้ TLI เป็นหุ้นน้องใหม่ตัวที่ 2 ในปีนี้ ที่ราคาต่ำจองตั้งแต่เข้าซื้อขายวันแรก โดยหลังจากการซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นยังต่ำจอง โดยปรับตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 15 บาท ในวันอังคารถัดมา ก่อนกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย มาปิดส่งท้ายเดือนกรกฎาคมที่ 15.20 บาท