1872 จำนวนผู้เข้าชม |
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่าที่ ประชุมคณะกรรมการบริษัท นัดพิเศษมีมติอนุมัติให้ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง (EMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เข้าลงทุนใน บมจ. หลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น (ACE) และบริษัท ไทย สมายล์ บัส (TSB) ผ่านการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้บุคคลในวงจำกัด (Private Placement หรือ PP) ที่ออกโดย BYD ในสัดส่วน 23.63 %ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน
ทั้งนี้ EMH จะเข้าซื้อหุ้นแบบ PP จำนวน 990.8 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท ในราคาหุ้นละ 7.062 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 6,997 บาท โดยบริษัทฯ จะชำระค่าจองซื้อหุ้นเป็นเงินสด หรือเช็คให้แก่ BYD ทั้งจำนวนในคราวเดียว
"เพราะ BYD มีการถือหุ้นใน 2 บริษัทย่อย ประกอบด้วย ACE ซึ่งทำธุรกิจโฮลดิ้ง โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 49% กับ TSB ที่ทำธุรกิจให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าประจำทาง ในกรุงเทพและปริมณฑล โดยมี ACE ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ทำให้หลังจาก EA เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน BYD ผ่าน EMH จะทำให้ EA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อมในบริษัทเหล่านี้" ผู้บริหาร EA ชี้ประเด็น
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ EA ได้อนุมัติให้ บริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง (ETH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยโอนกิจการของ ETHทั้งหมดให้แก่ TSB ซึ่งประกอบด้วยหุ้นสามัญของ บริษัท สมาร์ทบัส (SMB) จำนวน 10 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท (คิดเป็นสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้ว) กับหุ้นสามัญของ บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต (EST) จำนวน 40.1 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท (คิดเป็นสัดส่วน 99.99% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้ว) และเงินให้กู้ยืมแก่ บริษัท สมาร์ทบัส (SMB) และบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต (EST) จำนวน 2,224.5 พันล้านบาท และ 500 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ ETH จะได้รับค่าตอบแทนจากการโอนกิจการทั้งหมดเป็นเงินสดรวม 6,000 ล้านบาท จาก TSB
"การเข้าลงทุนใน BYD จะทำให้ EA ได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดด ผ่านการสร้างยอดขายรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้่น” นายอมร กล่าวทิ้งท้าย
ในมุมมองนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เชื่อว่า กำไรจากธุรกิจรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ จะเป็นตัวหนุนการเติบโตแบบก้าวกระโดด (S-curve) รอบใหม่ของ EA
ธนชาต (TNS) บอกว่า การลงทุนครั้งล่าสุด ทำให้ EA สามารถลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถเมล์ไฟฟ้าครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไล่ตั้งแต่ผู้ผลิตรถเมล์ไฟฟ้า (ผ่านการถือหุ้น 73% ใน AAB) ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย(ผ่านการถือหุ้น 40% ใน NEX และให้บริการรถเมล์สาธารณะ (ผ่านการถือหุ้น 11% ใน ACE) ที่สำคัญ ธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้ายังช่วยสร้างความต้องการใช้งานแบตเตอรี่ ซึ่งผลิตจากโรงงานแบตเตอรี่ Amita ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 75% โดยคาดธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า รวมการผลิตแบตเตอรี่ จะสร้างกำไรใน 3 ปีข้างหน้านี้ (2566-68) ที่ 0.8 พันล้านบาท 2.4 พันล้านบาท และ 3.5 พันล้านบาท ตามลำดับ
เฉพาะภาพรวมปีนี้ TNS คาด จะเริ่มเห็นการส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เพราะ ACE มีภาระผูกพันที่จะต้องให้บริการรถเมล์ไฟฟ้าอย่างน้อย 800 คัน ภายในเดือนพฤศจิกายน ทำให้คาดหมายยอดขายทั้งปีที่ 1,500 คัน ก่อนเพิ่มเป็น 2,500 คัน ในปี 2557-2558 หนุนให้แนวโน้มกำไรปีนี้อยู่ที่ 7,272 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 21% ก่อนเร่งตัวใน 2 ปีถัดไปเป็น 9,207 ล้านบาท และ 10,188 ล้านบาท หรือเติบโต 27% และ 11% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม TNS มีการปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ 100 บาท (จากประมาณการเดิมที่ 110 บาท อิงการคำนวณฐานปีหน้า) เพื่อให้สอดรับกับการที่เศรษฐกิจโลกปัจจุบันอ่อนแอกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลหการปรับมาใช้รถไฟฟ้าล่าช้าออกไป
ด้านหยวนต้า (YUANTA) ฉายภาพระยะสั้น โดยชี้ว่า คาดรายได้รวมในไตรมาส 2 เติบโตทั้งรายไตรมาส (QoQ) และรายปี (YoY) เป็น 4,954 ล้านบาท (+5% QoQ, +1% YoY) หนุนโดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ได้อานิสงค์จากกระแสลมดีขึ้น และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซี่งมีปัจจัยฤดูกาลเข้ามาเสริม อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแผงโซลาร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่า Ft สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ช่วยให้ได้รับอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น QoQ และ YoY ผลักดันให้กำไรขั้นต้นเร่งตัวขึ้นทั้ง QoQ และ YoY แตะ 39.1% อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทฯ จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 8% QoQ และ 11% YoY เป็น 347 ล้านบาท หลักๆ มาจากการผลิตรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมส่งมอบในครึ่งปีหลัง และการเตรียมความพร้อมเพื่อเดินเครื่องโรงงานแบตเตอรี่ในไตรมาสสุดท้าย ทำให้น่าจะทำกำไรปกติได้ที่ 1,331 ล้านบาท (+4% QoQ, +15% YoY)
สำหรับกำไรปกติครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยมีแรงกระตุ้นหลักจากการธุรกิจรถไฟฟ้า เพราะจะเริ่มส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป (คาดว่าจะมีการส่งมอบราว 400-500 คัน) หนุนด้วยการส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้าในไตรมาส 4 ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้า น่าจะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากยอดขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเร่งตัวของกำลังการผลิต และการปรับค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. อีกไม่ต่ำกว่าหน่วยละ 68.66 สตางค์ ผลักดันให้กำไรขั้นต้นสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่กำไรปกติจะทำสถิติสูงสุดใหม่ รายไตรมาสได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ธุรกิจไบโอดีเซลจะยังมีแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง และภาครัฐปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลกระทบก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจเริ่มมีความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จึงปรับสมมติฐานการส่งมอบรถเมล์ไฟฟ้าช่วง 2 ปีนี้ (2565-66) ลงมาจากเดิมที่คาดไว้ 1,500 คัน และ 2,000 คัน เหลือ 1,200 คัน และ 1,800 คัน ตามลำดับ เพื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้น ส่งผลให้ปรับลดประมาณการกำไรปกติ 2 ปีนี้ลง 13-15% เป็น 7,448 ล้านบาท (+32% YoY) และ 7,611 ล้านบาท (+2% YoY) ตามลำดับผลจากการปรับประมาณการลง ทำให้ต้องปรับลดราคาเหมาะสมสิ้นปีนี้ลงเหลือ 96.00 บาท แต่เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายบน EV/EBITDA ปีนี้ที่ 25.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย EV/EBITDA ย้อนหลัง 5 ปี และเมื่อเทียบกับแผนธุรกิจปัจจุบันที่มีการลงทุนในธุรกิจรถไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ที่มีโอกาสเติบโตสูง จึงแนะนำ “ซื้อ” เพราะราคาหุ้นเริ่มมี downside จำกัดแล้ว