ยก KKP หุ้นธนาคารเล็กที่โดดเด่นสุด

1680 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยก KKP หุ้นธนาคารเล็กที่โดดเด่นสุด

หลังจาก บมจ. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยผลดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก สรุปได้ว่า กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ  4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% จากครึ่งแรกปีก่อน (YoY) ในจำนวนนี้เป็นกำไรจากธุรกิจตลาดทุน 672 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 8,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.1% YoY ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% YoY 

สำหรับงวดไตรมาส 2 กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.1% YoY ในจำนวนนี้เป็นกำไรจากธุรกิจตลาดทุน 206 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตามการเติบโตของสินเชื่อ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขี้น 18% ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการที่ธนาคารมุ่งเน้นปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนเหมาะสม แต่มีคุณภาพสินเชื่อที่ดี โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 สินเชื่อมีการขยายตัวจากสิ้นปีก่อน 9.7%  อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยกลับปรับลดลงจากสภาวะความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกรรมด้านตลาดทุนชะลอตัวลง แต่ยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 18.18%

ขณะที่การตั้งสำรองสำหรับงวดครึ่งปีแรก ปรับลดลงตามคุณภาพสินเชื่อที่สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น โดยมีสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 3% ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต อยู่ที่ 169.1% ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 16.56% ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในอัตรา 12.99%  

โอกาสนี้ นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP ชี้แจงว่า ผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่สามารถขยายสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น 10% นำโดยกลุ่มสินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่มีการเติบโต 11% และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งขยายตัว 19% ด้านธุรกิจตลาดทุน รายได้กระจายตัวตามลักษณะธุรกิจ โดยธุรกิจการลงทุน ยังเติบโตดีจากการค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผันผวน ส่วนธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) มีการเติบโตของปริมาณสินทรัพย์ภายใต้การบริหารและจัดการ สูงกว่า 7 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 หนึ่งของตลาดได้ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจวานิชธนกิจ แม้จะมีปริมาณธุรกรรมลดลงในช่วงต้นปี แต่คาดว่า จะมีธุรกรรมขนาดใหญ่หลายรายการในครึ่งปีหลัง

ดังนั้น เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจในครึ่งปีหลัง KKP พร้อมต่อยอดการประสานธุรกิจธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน เพื่อพัฒนาบริการที่ครบถ้วนและไร้รอยต่อสำหรับลูกค้า ตลอดจนกระจายแหล่งรายได้รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจทวีความผันผวนในอนาคต โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านขนาดหรือเครือข่าย หนุนให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ผ่าน KKP Edge ที่นำเสนอบริการ Wealth Management ในแบบที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น หรือ Dime ที่ใกล้เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบ Digital เร็วๆ นี้ โดยไม่ละเลยการลงทุนด้านระบบสำหรับธุรกิจสินเชื่อที่ยังคงมีศักยภาพการเติบโตสูง และเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของ KKP โดยตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมทั้งปีนี้ที่ 16% 

พร้อมกันนี้ นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ KKP เสริมถึงแนวทางต่อยอดธุรกิจสินเชื่อว่า จะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น KKP Mobile เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น พร้อมกับเปิดตัวผลิตภัณฑ์​ใหม่ สินเชื่อ “รถเรียกเงิน”​ ก่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมผ่านการการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าที่มีความแข็งแกร่งควบคู่กันไป  

การออกมาให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารข้างต้น ทำให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากหลายสำนัก ออกโรงแนะนำ "ซื้อ" เพราะมีความโดดเด่นมากที่สุดในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก

เมย์แบงก์ (MST) ชี้ว่า การที่ KKP มีการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่าคาดในครึ่งปีแรก ทำให้ผู้บริหารปรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อทั้งปีเป็น 16% YoY จาก 12% พร้อมกับปรับลดต้นทุนสินเชื่อ (รวมผลขาดทุนจากการขายรถยนต์ที่ยึดคืน) เป็น 2.0% และเพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในครึ่งปีหลัง ธนาคารพร้อมขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อในอัตรา 0.5% เพื่อชดเชยกับส่วนต่างเงินกู้ที่คาดจะลดลง 0.2% ตามต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจวาณิชธนกิจในครึ่งปีหลัง จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเสนอขายหุ้น IPO บมจ. ไทยประกันชีวิต ในไตรมาส 3 และ บมจ. เบทาโกร ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ หนุนด้วยการทำดีล M&A เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก ทำให้ปรับประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้าเพิ่มขึ้น 7-10% พร้อมปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 92 บาท (อิง P/BV ปีนี้ที่ 1.4 เท่า ROE 13.2%) เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายธุรกิจใหม่ และแนวโน้มผลดำเนินงานงวดครึ่งปีหลังที่คาดจะแข็งแกร่งขึ้น  

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารในระดับเดียวกัน อย่าง บมจ. ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (TISCO) แนะนำ “ซื้อ” เพราะคาดว่ากำไรปีนี้จะเติบโต 23% YoY เทียบกับ TISCO ที่เติบโต 6% YoY ขณะที่ราคาหุ้น KKP ซื้อขายที่ PER ปีนี้ ระดับ 7 เท่า ต่ำกว่า TISCO ที่อยู่บริเวณ 10 เท่า

ด้านไพ (PI) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิ 3 ปีนี้ (2565-67) ขึ้น 7%, 8% และ 7% ตามลำดับ เพื่อให้สอดรับกับการปรับสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อ และการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลง ส่งผลให้กำไรสุทธิปีนี้ขยายตัวในอัตรา 23% ก่อนขยายตัว 12% ในปีหน้า และ 11% ในปีถัดไป หนุนให้คาดการณ์อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 3 ปีนี้ ปรับขึ้นมาเป็น 6.6%, 7.4% และ 8.2% ตามลำดับ พร้อมแนะนํา “ซื้อ” ด้วยมูลค่าพื้นฐานใหม่ที่ 84 บาท

ส่วนฟิลลิป (PLS) ชี้ว่า การที่ KKP สามารถปล่อยสินเชื่อครึ่งปีแรกได้ถึง 9.7% สูงที่สุดในกลุ่มธนาคาร จากสินเชื่อเกือบทุกประเภท และได้ประกาศปรับเป้าการปล่อยสินเชื่อทั้งปีขึ้นเป็น 16% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 12% พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์มาเน้นปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง อย่างสินเชื่อจำนำทะเบียน ให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนในพอร์ตสินเชื่อให้สูงขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนจากสินเชื่อเช่าซื้อ (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของพอร์ต) ให้ผลตอบแทนคงที่ และช่วยชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงที่ทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

นอกจากนี้ การที่ธนาคารมีแผนจะรักษาระดับ NPLs ไว้ไม่ให้เกิน 3.1% ปรับลดลงจากเป้าเดิมเล็กน้อย เพราะคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่าคาดไว้เดิม น่าจะช่วยเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ยได้อีกทางหนึ่ง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ และเงินเฟ้อ ทำให้ยังคงประมาณการกำไรปีนี้ไว้ที่ 7.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24% และคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 81 บาท ตามเดิม

อย่างไรก็ตาม การที่ KKP เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่มีการจ่ายเงินปันผลเด่น โดยคาดว่าจะมีการจ่ายปันผลปีนี้ในอัตราหุ้นละ 5.50 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงถึง 8.5% เป็นการจ่ายปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 1.50 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 2.3% จึงแนะนำ “ซื้อ” เพราะสามารถคาดหวังเงินปันผล และ upside จากราคาเป้าหมายในระดับ 20% ได้  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้