TGE เคาะราคา IPO 2 บาท เปิดขาย 9-11 ส.ค.นี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรก 19 ส.ค.

1593 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TGE เคาะราคา IPO 2 บาท เปิดขาย 9-11 ส.ค.นี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรก 19 ส.ค.


นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ ประเทศไทย (KGI) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (TGE) เปิดเผยว่า พร้อมเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่่วไป (IPO) จำนวน 600 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 50 สตางค์ ที่ราคาหุ้นละ 2.00 บาท ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคมนี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 19 สิงหาคมนี้    

ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขาย IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio หรือ P/E) ซึ่งคำนวณจากผลดำเนินงานของบริษัทฯ ย้อนหลังในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนปีที่แล้ว ถึงวันที่ 31 มีนาคมปีนี้ คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 21 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่า P/E เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกัน 4 ราย อย่าง ACE, CV, ETC และ TPCH ซึ่งอยู่ที่ระดับ 28.2 เท่า อิงข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ปีที่แล้วถึงวันที่ 25 กรกฎาคมปีนี้ 

สำหรับจุดเด่นของ TGE อยู่ที่รายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคง มีอัตรากำไรที่แข็งแกร่ง มี EBITDA Margin เฉลี่ยราว 47% สูงกว่าผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน เพราะมีวัตถุดิบที่เพียงพอและมั่นคง ช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพสูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งมีแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อสร้างการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการรุกสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ ที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น หรือการเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ ปลายปีนี้ อีก 4 โครงการ




ด้าน ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวเสริมถึงจุดเด่นเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากความมั่นคงด้านวัตถุดิบจากทำเลที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ในแหล่งเพาะปลูกปาล์มที่สำคัญของประเทศ ช่วยสร้างความได้เปรียบในการจัดหาวัตถุดิบชีวมวลแล้ว การเป็นบริษัทในกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ยังช่วยให้สามารถนำเอาผลพลอยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าได้ด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนต่ำ โดยโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจะใช้เทคโนโลยีเผาขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูง และใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรงไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยก ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ออกแบบให้สามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลายชนิด ทั้งเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูงมาก และการเผาวัตถุดิบชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่าได้ 100%

ที่สำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน บริษัทฯ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้าเป็นไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2575 จากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทุกประเภท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ ผ่านการหาโอกาสขยายธุรกิจ และหาพันธมิตรทางธุรกิจช่วยต่อยอดการเติบโตในอนาคต

ส่วนนายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหาร TGE บอกว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งหมด 51.7 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW โดยมีสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 20.3 MW ภายใต้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) ตลอดอายุสัญญา และมีสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาแบบ Non Firm อีก 7.0 MW




ขณะเดียวกัน ยังมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 MW จากโรงไฟฟ้า TES SKW ที่สระแก้ว โรงไฟฟ้า TES RBR ที่ราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN ที่ชุมพร คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ภายในปี 2567 ซึ่งการเดินหน้าโครงการเหล่านี้จะใช้เงินลงทุนส่วนหนึ่งจากการระดมทุนครั้งนี้ หลังจากที่จัดสรรเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และกันไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแล้ว

สำหรับผลดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง (2562-2564) บริษัทฯ มีรายได้รวม 347.5 ล้านบาท 713.5 ล้านบาท และ 807.5 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นเติบโตเฉลี่ย (CAGR) สูงถึง 52.4% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การควบคุมบริหารจัดการต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ผลดำเนินงานไตรมาสแรก TGE มีรายได้รวม 233.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิที่ 51.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% YoY จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หนุนโดยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TBP ที่สุราษฎร์ธานี และการมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำและไอน้ำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิที่ 23.3% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกปีก่อนที่ทำได้ 27.4% เพราะได้รับผลกระทบจากการปิดระบบสายส่งเป็นครั้งคราวจากการปรับปรุงถนนของกรมทางหลวง ทำให้ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้