เชื่อ SSP ผลงานปีนี้ทุบสถิติสูงสุดใหม่ ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ระยะสั้น มี story แผน PDP ไทย-เวียดนาม ให้ลุ้น

1507 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชื่อ SSP ผลงานปีนี้ทุบสถิติสูงสุดใหม่ ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ระยะสั้น มี story แผน PDP ไทย-เวียดนาม ให้ลุ้น

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เปิดเผยผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ปีนี้ ว่า มีกำไรสุทธิ 644.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 404.5 ล้านบาท หรือ 168.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุหลักมาจากการรับรู้กำไรพิเศษที่เกิดจากการขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮิดากะ ที่ญี่ปุ่น  รับรู้เป็นกำไร 348.4 ล้านบาท

แต่หากไม่รวมรายการดังกล่าว บริษัทฯ จะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 293.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1% YoY ขณะที่กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จากการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 657.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 181.0 ล้านบาท YoY

สำหรับสาเหตุที่ผลดำเนินงานหลักเติบโตต่อเนื่อง มาจากการรับรู้รายได้ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ (MW) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลีโอ 1 ที่ญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 26 MW โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 48 MW และโรงไฟฟ้าวินด์ชัยฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิต 45 MW ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นในสัดส่วน 25%  

 



โอกาสนี้ บริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 25 สิงหาคมนี้ ก่อนจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 กันยายน  

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวถึงแผนธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปีนี้ด้วยว่า บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตเพิ่มจากปัจจุบัน 232 MW เป็น 500 MW ภายใน 2-3 ปีนี้ ในเบื้องต้น คาดว่า จะเห็นความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ ที่เวียดนาม ซึ่งทางการเวียดนามพร้อมจะประกาศแผนพัฒนาพลังงาน (PDP) ในเร็วๆ นี้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลีโอ 2 ที่ญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 22 MW น่าจะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 2 ปี 2567  

"ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุน จนทำให้ SSP เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ ผ่านกลยุทธ์ทำ M&A strategy มากขึ้น รวมถึงการลงทุนใน brown field ด้วยการเข้าซื้อโครงการใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง อย่างโครงการพลังงานลมและชีวมวล ขณะเดียวกัน การขายโครงการโซลาร์ฟาร์มฮิดากะ ยังให้ผลตอบแทนคุ้มค่า จนบริษัทฯ มีเงินทุนมาต่อยอดโครงการใหม่ๆ ต่างจากในอดีตที่ทำแต่ green field และหลังจากนี้จะได้เห็นพัฒนาการในการเติบโตอย่างชัดเจน" ผู้บริหาร SSP ให้ความมั่นใจทิ้งท้าย 

 


ซึ่่งหากมองภาพระยะกลางถึงยาว นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จากหยวนต้า (YUANTA) บอกว่า เล็งเห็นประเด็นบวกรออยู่ ประกอบด้วย การประกาศแผน PDP ฉบับใหม่ของไทยและเวียดนาม ที่จะเพิ่มโอกาสให้ SSP สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้สิน และลดต้นทุนการเงินเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ล่วงหน้า 

ส่วนระยะสั้นๆ ในเบื้องต้น คาดกำไรปกติไตรมาส 3 จะลดลงจากไตรมาส 2 (QoQ) และเป็นจุดต่ำสุดของปี เนื่องจากไม่มีปัจจัยฤดูกาลของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย และโครงการลมในเวียดนาม เข้ามาหนุน แต่จะยังสามารถเติบโตได้ YoY จากการมีกำลังการผลิตใหม่ ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าลีโอ 1 โรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม และโครงการวินชัย รวมถึงได้แรงหนุนจากการปรับขึ้นค่า Ft งวดเดือนกันยายน และตุลาคม เพิ่มรายได้ของโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Adder แนะนำ "ซื้อ" โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ ที่ 14 บาท

ส่วนดาโอ (DAOL) ยังคงประมาณการกำไรปกติปีนี้ ที่ 1.2 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 42% โดยคาดแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังเติบโตต่อเนื่อง YoY โดยมีปัจจัยหลักคือการรับรู้ รายได้จากโครงการที่ทยอย COD ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จนถึงกลางปีนี้ เต็มตัวในครึ่งปีหลัง

ที่สำคัญ ความคืบหน้าของโครงการในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 110 MW ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ คาดจะเห็นความชัดเจนในครึ่งหลังปีนี้ จากการประกาศแผน PDP ของเวียดนาม ทำให้น่าจะเห็นหุ้นกลับมา outperform อีกครั้ง หลังจากราคาพักฐานมาระยะเวลาหนึ่ง นับตั้งแต่ขายโรงไฟฟ้าฮิดากะ จนราคาหุ้นล่าสุด ซื้อขายที่ PER เพียง 10 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ซื้อขายบริเวณ 20 เท่า ถือว่า laggard กลุ่มมาก จึงแนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 16 บาท 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้