ฺBCP ผนึกกำลัง BBGI และ TC ตั้งบริษัทร่วมทุน BSGF ผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานจากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร รายเดียวในไทย

1867 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฺBCP ผนึกกำลัง BBGI และ TC ตั้งบริษัทร่วมทุน BSGF ผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานจากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร รายเดียวในไทย

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และ บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) ร่วมกับบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ (TC) ได้ลงนามข้อตกลงร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ (BSGF) ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย โดย BCP ถือหุ้นใหญ่ 51% รองลงไปเป็น TC ในสัดส่วน 29% และ BBGI ถือหุ้น 20%

"SAF ถือเป็นบทใหม่สำหรับวงการพลังงานของประเทศไทย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยนวัตกรรมพลังงานสีเขียว และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญตามแผน BCP 316 NET ของกลุ่มบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้า Net Zero ในปี 2065” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก ชี้แจง

การร่วมทุนครั้งนี้ เป็นการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของพันธมิตรทั้ง 3 ราย มาช่วยกันวางรากฐานที่มั่นคงให้กับบริษัท BSGF ทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย ประสานความแข็งแกร่ง ระหว่าง BCP ในฐานะผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย เป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารในครัวเรือนเพื่อผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยเป็นรายแรก และยังเชี่ยวชาญในการค้าน้ำมันผ่านบริษัทย่อย BCP Trading (BCPT) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระอันดับหนึ่งในตลาดสิงคโปร์ ผสมผสานเข้าด้วยกันกับประสบการณ์ในการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารมาอย่างยาวนานของ TC และการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ของ BBGI

โดยบริษัท BSGF จะเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร ภายในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก คาดว่าจะพร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ปลายปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้นวันละ 1 ล้านลิตร เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน

ส่วนนายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการ TC บอกว่า บริษัทฯ เล็งเห็นศักยภาพของกลุ่มบางจากที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด สอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทฯ ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว ผ่านการลงพื้นที่จัดเก็บในชุมชน ป้องกันการนำกลับไปใช้ซ้ำ หรือระบายทิ้งลงในพื้นที่สาธารณะ หรือแหล่งน้ำต่างๆ  ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันใช้แล้วเดือนละประมาณ 17 ล้านลิตร

ขณะที่นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BBGI เสริมว่า ความชำนาญในการปฏิบัติการโรงงานไบโอดีเซล พร้อมด้วยเทคโนโลยี และ Feedstock สำหรับการผลิต SAF ทำให้บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า จะสามารถสนับสนุนวัตถุดิบให้กับหน่วยผลิต SAF ได้อย่างเพียงพอ และยังได้คุณภาพเหมาะกับกระบวนการผลิต SAF อีกด้วย

ทั้งนี้ BSGF พร้อมขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานสำหรับสายการบินที่จะเข้าสนามบินใน EU เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่กำหนดไว้ 2% ในปี 2025 เพิ่มเป็น 6%, 37% และ 85% ในปี 2030, 2040 และ 2050 ตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่มุ่งให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593

ผลิตภัณฑ์ SAF จากน้ำมันใช้แล้วในการทำอาหารนั้น ถือว่ามีผลดีในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร ตั้งแต่เศรษฐกิจชีวภาพ ( Bio-economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้