GUNKUL ประเดิมรับงาน EPC โซลาร์เสาสัญญาณ AIS 100 MW จาก GULF

1863 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GUNKUL ประเดิมรับงาน EPC โซลาร์เสาสัญญาณ AIS 100 MW จาก GULF

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวิร์ค บริษัทย่อยของ  บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เสาสัญญาณเครือข่าย AIS ทั่วประเทศ กว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) โดยมอบหมายให้ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เป็นผู้ออกแบบติดตั้งโครงการ ตอกย้ำสายสัมพันธ์ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง GULF และ GUNKUL ทีแน่นเหนียว เพื่อร่วมกันลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1,000 MW ภายใน 5 ปี ตามแผนที่วางไว้ 

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF ชี้แจงว่า การคัดเลือก GUNKUL เข้ามาเป็นผู้รับงานออกแบบติดตั้ง และบริหารงานก่อสร้าง (EPC) เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เสาสัญญาณเครือข่าย AIS ทั่วประเทศ นอกจากจะเชื่อมั่นในประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เช่น โครงการพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และทีมงานที่มีประสบการณ์ สามารถรองรับงานโครงการขนาดอันยาวนานแล้ว ยังเล็งเห็นประโยชน์ที่เกิดจากการที่ GULF และ GUNKUL ต่างก็ดำเนินธุรกิจโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย จึงสามารถร่วมกันบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดประโยชน์สูงสุดกับโครงการของ AIS ตามมา




ขณะที่นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุน และธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน GUNKUL ยืนยันว่า บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นที่จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการติดตั้งโครงการโซลาร์ในหลากหลายรูปแบบ มาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี บริหารจัดการโครงการติดตั้งระบบโซลาร์เสาสัญญาณเครือข่าย AIS ทั่วประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งในเรื่องของงบประมาณและเวลา รวมถึงการเดินหน้าความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มกับทั้ง GULF และบริษัทฯ

ส่วนความคืบหน้าของบริษัทร่วมทุน กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น (GGC) ทั้ง 2 บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบอีกหลายโครงการร่วมกัน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าในปลายปีนี้ นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทยังร่วมกันพิจารณาแนวทางในการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1,000 MW ภายใน 5 ปีข้างหน้าตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ได้มีการลงนามสัญญาความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Joint Venture Agreement) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้