มุมมองเงินเฟ้อ ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง อะไรน่าลงทุน

1925 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มุมมองเงินเฟ้อ ถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง อะไรน่าลงทุน

หลังจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 7.9% เร่งตัวขึ้นจากระดับ 7.6% ในเดือนกรกฎาคม ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี สาเหตุหลักมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10.3% เทียบกับ 7.8% ในเดือนก่อน จากฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้ราคาผักและผลไม้ปรับสูงขึ้น และจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาไข่ และเนื้อสัตว์ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน เร่งตัวขึ้นมาสู่ระดับ 3.2% เทียบกับ 3.0% ในเดือนกรกฎาคม ตามราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ ที่ 6.1% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ ที่ 2.2%

 



ล่าสุด เมื่อสำรวจความเห็นของสำนักวิจัยเศรษฐกิจ และฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายค่าย เสียงส่วนใหญ่จะให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า เงินเฟ้อน่าจะแตะระดับสูงสุดแล้ว แม้ตัวเลขจะยังยืนระดับสูงต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ก็ตาม

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) อธิบายว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือปีนี้น่าจะยืนระดับสูงต่อเนื่อง มีสาเหตุจากต้นทุนที่ทรงตัวสูงเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาสินค้าในวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเกิดตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้อีกด้วย

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ประเมินการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5% คาดส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 0.5% กระทบกำไรจากการดำเนินงานลดลงเฉลี่ย 4.6% โดยอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูง อย่างภาคการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร และก่อสร้าง อาจมีกำไรลดลง 5-15% ขึ้นกับการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในตลาด

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้  (TISCO ESU) บอกว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเฉลี่ย 5% จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.1-0.2% เท่านั้น ยิ่งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 4 น่าจะกระทบต่อเงินเฟ้อปีนี้จำกัด โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์สูงจากการขึ้นค่าแรง คือ หุ้นกลุ่มค้าปลีกและไฟแนนซ์ ช่วยหนุนให้กำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และช่วยให้คุณภาพหนี้ดีขึ้น แนะนำ CPALL, BJC และ AEONTS

สำหรับกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบในแง่ลบ คือ หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง สถานีบริการน้ำมัน ผู้ประกอบการอาหารแปรรูป และร้านอาหาร อย่างไรก็ดี เรามองบางบริษัทสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้า หรือผู้บริโภคได้ ส่งผลให้แทบไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ  

กระนั้น ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์กสิกรไทย (KS) และฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) เชื่อตรงกันว่า เงินเฟ้อไทยแตะระดับสูงสุดแล้ว จาก 2 เหตุผล คือ ผลกระทบจากฐานที่ต่ำที่สิ้นสุดลง และแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มน้อยลง ดูได้จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเริ่มชะลอตัวเช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ปรับตัวลง ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 21 กันยายนนี้ จะเห็นการปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ ในอัตรา 25bps เป็น 1.0% เพื่อเน้นรักษา Spread real rate ไทยเทียบสหรัฐฯ ให้แคบลง จากที่ติดลบ -0.86% ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มเป็น -1.11% ในเดือนสิงหาคม  

ทั้งนี้ KS แนะนำลงทุนใน 3 Theme คือ Theme ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคา ได้แก่  BEM คาดได้ประโยชน์จากการปรับค่าโดยสารในปีหน้า BGRIM, GPSC และ SSP คาดได้ประโยชน์จากการขึ้นค่า Ft Theme ที่สอง ผู้ได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ย ได้แก่ BBL, SCB และ KTB เพราะการขึ้นดอกเบี้ยทุกๆ 25 bps คาดจะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิของธนาคารขนาดใหญ่ในอัตรา 7% และ Theme ที่สาม แรงกดดันจากราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ลดลง เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากแรงกดดันต่อน้ำมันดีเซลที่บรรเทาลง นำโดย ASK และ THANI และกลุ่มผู้ค้าปลักน้ำมัน ที่ได้ประโยชน์จากค่าการตลาดเพิ่มขึ้น อย่าง PTG และ OR 

 



ส่วน KTX  แนะนำ เก็งกำไรระยะสั้น ในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในกลุ่มธนาคาร นำโดย BBL, SCB และกลุ่มประกันภัยและประกันชีวิต อย่าง TIPH ส่วนการลงทุนในระยะยาว แนะนำซื้อ หุ้นอิงการบริโภคภายในประเทศ อย่าง BJC, CRC และหุ้นอิงการท่องเที่ยว นำโดย CENTEL, ERW

ชณะที่เอเซีย พลัส (ASPS) คาดว่า อาจเห็น กนง. ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆละ 25 bps ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.25% พร้อมแนะนำเลือกลงทุนในหุ้น 6 กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อชะลอตัว คือ กลุ่มค้าปลีก อย่าง HMPRO, CRC กลุ่มท่องเที่ยว นำโดย AOT, CENTEL, ERW กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาทิ CPN, LH, BRI  กลุ่มส่งออก อย่าง AH, TU กลุ่มธนาคาร นำโดย SCB, KTB และกลุ่มเช่าซื้อ เน้นตัวเดียว คือ TIDLOR  

 



อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) กลับมองต่างมุม โดยประเมินว่ามีความเสี่ยงที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะข้างหน้าจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและอุปทานที่ยังคงมีปัญหา และอุปสงค์ในสหรัฐฯ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ต่อไป ถึงแม้หลายสำนักจะมีมุมมองว่า เศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจช่วยคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อลงได้และธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะเมื่อฐานของเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นมามากแล้ว และราคาน้ำมันไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก  

ในกรณีฐาน KKP Research ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าไปไกล แม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับที่สูงมากก็ตาม แต่ความเสี่ยงสำคัญคือดุลบัญชีเดินสะพัดอาจติดลบได้ หากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมันที่ยังอาจปรับสูงขึ้น และทำให้ดุลการค้าปรับตัวแย่ลงเนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันมากกว่าส่งออก ปัจจัยการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่ำกว่าคาด หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Stagflation จะทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ และปัจจัยการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง อาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบมากกว่าคาด กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงรุนแรง และส่งผลต่อเนื่องถึงเงินเฟ้อในประเทศตามมาในที่สุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้