2180 จำนวนผู้เข้าชม |
บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ลงนามสัญญาซื้อขายที่ดิน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 กับบริษัท บีวายดี ประเทศไทย (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแถวหน้าของจีน เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าพวงมาลัยขวาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนและสหภาพยุโรป ด้วยกำลังการผลิตปีละ 1.5 แสนคัน คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567 เป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท สามารถจะรับรู้รายได้อย่างช้าที่สุดไตรมาสแรกปีหน้า
ทั้งนี้ ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมระยอง 36 จำนวน 600 ไร่ ที่ WHA ขายให้กลุ่ม BYD ครั้งนี้ มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของที่ดินเฟส 1 ที่มีทั้งหมด 1,281 ไร่ ซึ่งหาก BYD หรือบริษัทในเครือสนใจจะขยายพื้นที่เพิ่ม WHA ยังมีที่ดินเฟส 2 รองรับอีก 500 ไร่
โอกาสนี้ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA ชี้แจงว่า ข้อตกลงการซื้อขายที่ดินครั้งนี้ เป็นดีลที่ใหญ่สุดในรอบ 20 ปี ที่ชี้ให้เห็นความสำเร็จของบริษัทฯ ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-curve Industry) อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นก้าวสำคัญของการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่า ในต้นปีหน้าประเทศไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1 ล้านคัน
เพราะล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 26 โครงการ จาก 17 บริษัท คิดเป็นกำลังการผลิตปีละ 830,000 คัน และน่าจะพัฒนาสู่เป้าหมายการมีกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดปีละ 700,000 คัน ภายในปี 2573
ที่สำคัญ เป้าหมายยอดขายที่ดินที่บริษัทฯ ตั้งเอาไว้ปีนี้ ที่ 1,650 ไร่ สามารถทำได้แล้ว 1,400 ไร่ นับรวมดีลกับ BYD ครั้งนี้ ขณะที่เป้าหมายยอดโอนปีนี้ ตั้งไว้ที่ 1,000-1,100 ไร่ ปัจจุบันมียอดขายรอโอน (Backlog) แล้ว 1,000 ไร่ ทยอยรับรู้เป็นรายได้ถึงปีหน้า ทำให้เชื่อมั่นว่า ปีนี้บริษัทฯ จะมีการเติบโตของรายได้และกำไรทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) และจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทฯ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนรายใหญ่ที่ติด Top 5 อีก 1 ราย ซึ่งคาดว่า จะมีความชัดเจนเกิดขึ้นปีหน้าเช่นกัน และจะทำให้ WHA สามารถขายที่ดินให้กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญของจีนเพิ่มเป็น 4 ราย จากที่ปิดดีลได้แล้ว 3 ราย คือ SAIC Motor, Great Wall Motor และ BYD เป็นรายล่าสุด
ขณะที่นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากกลุ่ม BYD กล่าวเสริมว่า การเลือกตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไทยครั้งนี้ เพราะประเทศไทยและนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งจากทำเลที่ตั้ง ความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่ งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง นอกจากนี้ ชื่อเสียงของ WHA ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค และยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ใน EEC ด้วย ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับบริษัทฯ มากขึ้น และคาดหวังว่า ทั้ง BYD และ WHA จะมีสายสัมพันธ์ระยะยาวอันดีร่วมกันต่อไปในอนาคต
ก่อนหน้านี้ กลุ่ม BYD ได้มีการแต่งตั้งบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ (Rêver Automotive) ของกลุ่มสยามกลกลการ ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตั้งเป้ายอดขายปีแรก 10,000 คัน
สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีต่อดีลขายที่ดินครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี มองเป็นปัจจัยบวก และน่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจของ WHA ในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่ม EV อย่างไรก็ตาม upside บางส่วนน่าจะรวมอยู่ในราคาแล้ว เนื่องจากมีการเก็งกำไรการขายที่ดินในข่าวท้องถิ่นก่อนบริษัทฯ จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
ดาโอ (DAOL) อธิบายว่า ภาพธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่เติบโตโดดเด่น ดูได้จากยอดขายและยอดโอนที่สูงขึ้น ประกอบกับบริษัทฯ มีฐาน Backlog ที่สูงเป็นประวัติการณ์นับจากปี 2560 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการกลับมาลงทุนที่เร็วกว่าคาด และการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และเวียดนามเพิ่มขึ้น จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดในหลายพื้นที่ ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ยังดีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธุรกิจน้ำที่ยังคงขยายตัวตามแผน ทำให้ต้องปรับประมาณการกำไรปกติปีนี้และปีหน้าขึ้นเป็น 2.8 พันล้านบาท และ 3.5 พันล้านบาท แม้จะหักลดผลกระทบจากธุรกิจไฟฟ้าซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ยืนระดับสูง แม้จะมีการปรับขึ้นค่า Ft ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้ ทำให้ต้องหักส่วนแบ่งกำไรปีนี้และปีหน้าลง 12% และ 6% แล้วก็ตาม
ทั้งนี้ คาดว่าผลดำเนินงานครึ่งปีหลัง จะเริ่มเห็นการขยายตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ก่อนพุ่งทำจุดสูงสุดของปีในไตรมาส 4 จากการรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน WHART และ WHAIR ตามปกติราว 3.2 พันล้านบาท
คงแนะนำ "ซื้อ” จากภาพธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤตไวรัสโควิด และแนวโน้มผลดำเนินงานปกติปีหน้าที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ ตั้งแต่ WHA เข้าซื้อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) ตั้งแต่ปี 2558 หนุนโดยการได้ผลบวกจากมาตรการส่งเสริมการผลิตและขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พร้อมปรับราคาเป้าหมายเพิ่มเป็น 4.50 บาท อิงP/BV ปีหน้า ที่ 2.0 เท่า (5 year average P/BV) จากเดิมที่ให้ไว้ 4.00 บาท อิง P/BV ปีนี้ที่ 2.0 เท่า
ส่วนพาย (PI) ชี้ประเด็นว่า มีมุมมองเชิงบวกสําหรับกําไรปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 28.3% จากปีก่อน (YoY) เป็น 3.3 พันล้านบาท หนุนโดยการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นจากการขายที่ดินในประเทศ และในเวียดนาม ขานรับการกลับมาเปิดประเทศมากขึ้น บวกกับการผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าประเทศจีน และการย้ายฐานผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน เสริมด้วยรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์ที่สูงขึ้นตามความต้องการโรงงาน และคลังสินค้าแบบสร้างเสร็จ ทั้งแบบสำเร็จรูปและตามความต้องการเฉพาะที่ขยายตัวขึ้น ตลอดจนการมีรายได้จากการขายสินทรัพย์ที่สูงขึ้นเป็น 5.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ปรับเพิ่มประมาณการกําไรปีนี้ และปีหน้าขึ้น 8% และ 4% ตามลําดับ พร้อมปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานปีนี้ขึ้น 11% เป็น 4.20 บาท อิง P/E ที่ 18 เท่า และคงคําแนะนํา "ซื้อ”
ขณะที่โนมูระ พัฒนสิน (CNS) คิดคล้ายๆ PI และให้ราคาเป้าหมายที่ 4.20 บาทเช่นกัน จนทำให้ราคาดังกล่าวกลายเป็นราคาเฉลี่ยของหุ้น WHA ตาม IAA Concencus
อย่างไรก็ตาม ค่ายทิสโก้ (TSC) กลับให้ราคาเป้าหมายต่ำที่สุด เพียง 3.70 บาท โดยให้เหตุผลว่า มีความกังวลในประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกั บราคาขายที่ดินว่า อาจมีการลดราคา ซึ่งจะเห็นความชัดเจนหลังจากมีการบันทึกการขายแล้ว