เปิดเคล็ดลับธุรกิจหลังโควิด กลยุทธ์ปรับตัวของ SMEs

2299 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดเคล็ดลับธุรกิจหลังโควิด กลยุทธ์ปรับตัวของ SMEs

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดงานสัมมนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แบบเจาะลึกแก่ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมเปิดกลยุทธ์การบริหารธุรกิจในยุคหลังโควิด เพื่อยกระดับให้เป็น Smart SMEs จาก 2 ธนาคาร คือ บมจ. ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (TTB) ที่จัดสัมมนาหัวข้อ "เจาะลึกสูตรสำเร็จการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าสู่การเป็น Smart SME ยุค Next Normal (ttb SME I the X-Change" และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่จัดสัมมนาหัวข้อ "อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี (SME Of The Future)"

ซึ่งงานสัมมนาทั้ง 2 หัวข้อนี้ มีการแนะแนวทางรับมือปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในแง่มุมต่างๆ พร้อมกลยุทธ์ในการปรับตัวของ SMEs สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นางแคทรีน อมตวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เฮด วัน ฮันเดรด ให้เคล็ดลับสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดว่า จำเป็นต้องปรับการบริหารธุรกิจด้วยมุมมองใหม่ ได้แก่

  • Think Ahead : คิดตอบโจทย์ล่วงหน้า มองความต้องการลูกค้าเป็นหลัก
  • Build Brands : เสริมแกร่งแบรนด์ตนเอง และเชื่อมต่อกับผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น โดยเน้นความจริงใจ
  • Customer Direct : สื่อตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงให้มากที่สุด
  • Go to Digital : ใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มโอกาสสร้างการเชื่อมต่อแบบไร้ที่ติ และ
  • Embrace the Environment : เทรนด์ผู้บริโภคปัจจุบัน คาดหวังจากแบรนด์ในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม                                                                                                                                     

 

ส่วนนางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็ปเป้ (SAPPE) ถ่ายทอดประสบการณ์จากจุดเริ่มต้นของบริษัทฯ ที่เป็นแค่ธุรกิจ SME ที่จำหน่ายสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว และต่อมา เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่มน้ำผลไม้ที่ใช้นวัตกรรม ทำให้สินค้ามีความโดดเด่นและแตกต่างจากท้องตลาด พร้อมรุกขยายตลาดต่างประเทศ ด้วยการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

ผ่านมาถึงวันนี้ SAPPE มีสินค้ามากกว่า 10 แบรนด์ จาก 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ วางจำหน่ายใน 98 ประเทศทั่วโลก ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทฯ กำหนดโมเดลธุรกิจที่เหมาะกับประเทศนั้นๆ ควบคู่ไปกับการสร้าง Brand Awareness และกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการปิดความเสี่ยงของค่าเงินที่มีความผันผวน เนื่องจากมีรายรับหลายสกุลเงิน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจด้วย

ขณะเดียวกัน นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะให้ SMEs ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาด มองตลาดใหม่ที่เฉพาะเจาะจง เข้าสู่ช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่สอดรับกับแนวทาง Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model ตามเทรนด์ของโลก

ซี่ง DITP พร้อมให้คำแนะนำผ่าน Market Intelligence Tools ด้านต่าง ๆ รวมถึงยังมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ SMEs ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และกิจกรรมขยายตลาดในต่างประเทศ ผ่านโครงการ SMEs Pro-active Program เพื่อเปิดโอกาสให้นำสินค้าเข้าไปทำตลาดได้มากขึ้น และเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการจะได้พบกับคู่ค้าตัวจริงที่มีศักยภาพ และผ่านการคัดกรองแล้วอย่างดี

 



เช่นเดียวกัน ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่แนะให้ขยายตลาดกลุ่มอาเซียน เพราะได้ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไม่มาก จากขนาดของกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ อีกทั้งแนวทางเพิ่มอัตราการค้าร่วมกันระหว่างอาเซียนยังจะช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ดี สำหรับคำแนะนำในการปรับตัวรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง SMEs ต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นเหล่านี้ คือ 

1. การรักษาระดับการเติบโตและบริหารความเสี่ยงธุรกิจ ด้วยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบริหารวัตถุดิบ เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้ปรับตัวรับวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว ดูแล balance sheet โดยลดสินค้าคงคลัง ลดหนี้ และดูแลความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ การ Hedging เพื่อลดความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนผ่านการบริหารความเสี่ยงของคู่ค้า รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลัง

2. การยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้เข้าใจถึงความต้องการลูกค้า การนำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ๆ และการสร้าง Customer journey เพื่อช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลได้เร็วขึ้น 

3. การทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้หลากหลายและลงทุนธุรกิจแห่งอนาคต โดยปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค และสอดรับกับสภาวะตลาด หันไปลงทุนในธุรกิจด้านอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากช่องทางเดียว การลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน จัดทำแผน retain และ reskill พนักงานให้สอดรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ และมองหาโอกาสในการควบรวมธุรกิจ

 


สำหรับผู้สนใจ สามารถรับชมสัมมนาออนไลน์ ttb SME I the X-Change ย้อนหลังได้ที่  https://youtu.be/43p1IPCaQWc

 
                                                                                            


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้