ฺฺBBL ขานรับ ADVANC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ 3BB และ JASIF ด้วยการยืดหนี้ ลดดอก เพิ่มปันผล JASIF

2040 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฺฺBBL ขานรับ ADVANC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ 3BB และ JASIF ด้วยการยืดหนี้ ลดดอก เพิ่มปันผล JASIF

สืบเนื่องจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) มีการทำสัญญากู้ยืมเงินราว 1.8 หมื่นล้านบาท จาก บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เพื่อนำเงินกู้มาซื้อทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงเพิ่มเติม โดยในสัญญาสินเชื่อมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้กองทุนรวมแก้ไข แปลงหนี้ หรือยกเลิกสัญญาจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงห้ามแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจาก BBL

แต่เมื่อบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) บริษัทย่อย ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) สนใจซื้อกิจการ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) และหน่วยลงทุน JASIF คิดเป็นมูลค่ารวม 3.24 หมื่นล้านบาท จาก บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) และบริษัท อคิวเมนท์ (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JAS โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า จะขอแก้ไขสัญญาจัดหาผลประโยชน์จากสินทรัพย์กิจการโครงสร้างพื้นฐาน และแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม ในประเด็นขอยกเลิกสัญญาประกันรายได้ และยอมรับการขยายระยะเวลาการเช่า

ล่าสุด บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เห็นชอบในหลักการที่ทาง ADVANC เสนอมา จึงขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ ของ JASIF ออกไปจนถึงปี 2575 จากสัญญาเดิมที่จะต้องชำระเงินกู้ให้เสร็จสิ้นในปี 2573 พร้อมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยที่คิดด้วย จากเดิมคิดที่ระดับ MLR ลงเป็น MLR – 0.5% เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของธุรกิจที่จะลดลง หากผู้ถือหน่วยลงทุนอนุมัติตามข้อเสนอของ ADVANC และเปลี่ยนตัวผู้สนับสนุนหลักเป็น AWN ที่มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ส่งผลให้ความเสี่ยงของธุรกิจของกองทุนรวมลดลง ประกอบกับโครงสร้างค่าเช่าใหม่ จะทำให้ 3BB สามารถแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านได้ดียิ่งขึ้น และส่งผลดีกลับมายังผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF ในที่สุด

สำหรับในระยะยาว การที่ AWN ก้าวเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนรายใหม่ให้กับ JASIF จะทำให้ความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนภายนอกได้มากขึ้น ส่งผลให้ JASIF มีความสามารถในการซื้อสินทรัพย์โทรคมนาคมใหม่ๆ เข้าสู่กองทุนและรับผลตอบแทนได้มากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเงื่อนไขที่ AIS เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญของกองทุน JASIF ในวันที่ 18 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ได้รับการอนุมัติเท่านั้น

ที่สำคัญ การปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้ จะทำให้ JASIF สามารถการประหยัดค่าใช้จ่ายในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ปีละ 1,000-1,100 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก หลังจากสัญญาใหม่มีผล ซึ่งจะมีผลให้เงินปันผลเพิ่มขึ้นอีกหน่วยละ 0.13 บาท ซึ่งเมื่อคิดรวมกับข้อเสนอในการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้า เป็นเงินรวม 3,000 ล้านบาท ที่ทาง ADVANC เสนอไปก่อนหน้านี้ไม่นาน จะทำให้เงินปันผลในช่วง 3 ปีแรกของ JASIF อยู่ที่ระดับ 9% ใกล้เคียงกับที่ได้รับจากสัญญาเช่าเดิม

ท่าทีที่ชัดเจนของ BBL ในการเปิดรับกลุ่ม ADVANC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ ทำให้ราคาหน่วยลงทุน JASIF ดีดตัวขึ้นมายืนเหนือ 8 บาทได้อีกครั้ง พร้อมกับเพิ่มความมั่นใจให้ตลาดเชื่อมั่นว่า มีโอกาสสูง 90% ที่ผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF จะยอมรับการขอยกเลิกสัญญาประกันรายได้ และการขยายระยะเวลาการเช่า ซึ่งจะส่งผลให้การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TTTBB และ JASIF ลุล่วงไปในที่สุด

กสิกรไทย (KS) ตีความว่า ข้อเสนอทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF ยอมรับข้อเสนอของ  ADVANC จากการคำนวณ พบว่า ข้อเสนอล่าสุดของ BBL จะเพิ่ม upside จากข้อเสนอเดิมของ ADVANC ขึ้น 19-22% ของอัตราเงินปันผลคาดการณ์ จาก 0.66 บาท ในปี 2566 และ 0.56 บาท ในปี 2567-68  เป็น 0.86 บาท ในปี 2566 และ 0.82 บาท ในปี 2567-68 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินปันผลคาดการณ์เดิมที่ไม่มีเงื่อนไขส่วนลดค่าเช่าที่ 0.96 บาท ในปี 2566 และ 0.95 บาท ในปี 2567-68 อยู่เพียง 10-14%

พัฒนาการใหม่ๆ ทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดีลนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยความเป็นไปได้ 80% ส่งผลให้ JASIF ดึงดูดใจนักลงทุนที่ต้องการเงินปันผลสูงได้เป็นอย่างดี และจำกัด downsize ของราคาหน่วยลงทุน พร้อมทั้งปรับราคาเป้าหมายปีหน้าของ JASIF เพิ่ม 17% จาก 7.20 บาท เป็น 8.40 บาท รวมมูลค่าที่อิงด้วยวิธี DCF

ฟิลลิป (PLS) มองการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ ของ JASIF ออกไปจนถึงปี 2575 จากสัญญาเดิมที่จะต้องชำระเงินกู้ให้เสร็จสิ้นในปี 2573 พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.5% จะทำให้ภาระการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วง 5 ปีแรกของ JASIF ลดลงถึง 63 – 37%

ขณะที่ BBL คาดมีรายได้ดอกเบี้ย รวม extension fee เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิมถึง 39% และอาจมากกว่านี้หากอัตราดอกเบี้ย MLR ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่มีนัยยะต่อการทบทวนปรับประมาณการกำไรขึ้น จึงยังคงประมาณการกำไรปีหน้าที่ 3.2 หมื่นล้านบาท และคงราคาพื้นฐานที่ 151 บาท ตามเดิม

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้