เชื่อดีลควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC จบได้ในปีนี้ ลุ้นผลประชุม กสทช. 20 ต.ค.นี้ เพื่อนับหนึ่ง

2160 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชื่อดีลควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC จบได้ในปีนี้ ลุ้นผลประชุม กสทช. 20 ต.ค.นี้ เพื่อนับหนึ่ง

หลังจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่ แล้วมีตัวบทกฎหมายฉบับไหน ปีไหน รองรับอย่างไรหรือไม่ และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการใดๆ ที่เป็นการควบรวมธุรกิจ ต้องดำเนินตามประกาศฉบับปี 2561 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะภายใต้ประกาศ กสทช. ฉบับปี 2561 กำหนดให้การควบรวมธุรกิจสามารถกระทำได้ เพียงแค่ผู้ควบรวมธุรกิจจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. ล่วงหน้า แล้วส่งรายงานหลังการควบรวมกิจการอีกครั้ง โดยให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นการขออนุญาตไปในตัว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ควบรวมธุรกิจ จะได้ไม่ต้องยื่นคำขอซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ การควบรวมกิจการยังถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายของ กสทช. ทำให้กฤษฎีกาไม่อาจให้ความเห็นในส่วนที่เป็นการใช้ดุลยพินิจ รวมถึงการกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้

และต่อมา พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประธาน กสทช. ได้ออกมาชี้แจงว่า หลังจากได้ข้อสรุปการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และรวบรวมข้อมูลครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เตรียมนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาในวันที่ 12 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวาระการประชุมปกติ เพื่อพิจารณาเรื่องควบรวมกิจการโดยเฉพาะ โดยจะพิจารณาตั้งแต่ข้อกฎหมาย การอนุญาตหรือไม่อนุญาต และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธุรกิจของผู้ขอควบรวม ซึ่งคาดว่า พร้อมประกาศให้ทราบได้ทันทีที่ที่ประชุมมีมติเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนัดหมาย ทางคณะกรรมการ กสทช. ขอเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 20 ตุลาคม 

พัฒนาการข้างต้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น DTAC และ TRUE ตามมา โดยฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัส (ASPS) มองว่า การควบรวมกิจการมีโอกาสเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ซึ่งเมื่อประเมินจากความเห็นล่าสุดของ สำนักงาน กสทช. ที่เสนอมาตรการ 14 ข้อ ในการกำกับดูแล TRUE และ DTAC หลังการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในประเด็นเพดานราคาค่าบริการ การรวมโครงข่าย และการถือครองคลื่น

ล่าสุด ประเด็นเพดานราคาค่าบริการ ยังคงยึดแนวทางเดิมต่อไป ส่วนประเด็นการรวมโครงข่าย ไม่ได้มีการห้ามการใช้โครงข่ายร่วมกัน จึงเชื่อว่าจะสามารถโรมมิ่งคลื่นระหว่างกันได้ เช่นเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจตามปกติที่มีการโรมมิ่งคลื่นระหว่างผู้ให้บริการต่างค่าย นอกจากนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดให้เรียกคืนคลื่นจากทั้ง 2 บริษัทแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีหลักเกณท์เรื่องเพดานการถือครองคลื่น แต่เปิดทางไว้ว่า อาจมีการเรียกคืนคลื่นได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. อาจเพิ่มเงื่อนไขให้ทั้ง 2 บริษัทฯ ต้องแบ่ง capacity ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเป็น 20% ของความจุของโครงข่ายตนเอง 

สำหรับประเด็นการให้แยกแบรนด์จากกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อทั้ง 2 บริษัทฯ นัก เพราะเชื่อว่าในช่วง 1- 3 ปีแรกของการควบรวมกิจการ ทั้ง 2 บริษัทฯ น่าจะยังต้องคงการใช้แบรนด์เดิมกันไปก่อน และรอให้มีการปรับปรุงระบบงานภายในของทั้ง 2 บริษัทให้เรียบร้อยก่อน ถึงค่อยรวมแบรนด์กัน

ดังนั้น ฝ่ายวิจัย ASPS คงคำแนะนำ "ซื้อ" ทั้ง TRUE และ DTAC (ราคาเป้าหมายที่รวมประโยชน์จากการควบรวมกิจการอยู่ที่ 5.70 บาท และ 58.00 บาท ตามลำดับ)

ขณะที่ฝ่ายวิจัยกสิกรไทย (KS) คาดว่า กระบวนการทำคำเสนอซื้อน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน ส่วนกระบวนการแลกเปลี่ยนหุ้นน่าจะเกิดภายในเดือนธันวาคม และหุ้นใหม่ของบริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการ น่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทันสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้น DTAC และ TRUE ระยะสั้น คาดจะดีดตัวขึ้นมาใกล้เคียงราคาในการทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจ (VTO) ที่ 47.76 บาท และ 5.09 บาท ตามลำดับ และราคาหุ้นน่าจะแกว่งตัวระดับ VTO จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งไม่รับคุ้มครองชั่วคราว ถึงจะปลดล็อก upside ต่อราคาเป้าหมายของ TRUE และ DTAC ซึ่งคิดรวมมูลค่าเพิ่มจากการผนึกกำลังด้านรายได้ และการผนึกกำลังด้าน opex และ capex แล้ว ประเมินราคา TRUE ได้ที่ 6.43 บาท และ DTAC อยู่ที่ 58.43 บาท

อย่างไรก็ตาม KS ให้ความเห็นด้วยว่า มาตรการเยียวยาที่จะปกป้องผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การบังคับบริษัทโทรคมนาคมให้คงโปรโมชั่นที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคทั้งหมดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นเวลา 3-5 ปี กระนั้น กับมาตรการของ กสทช. ที่ไม่ให้รวมคลื่นความถี่ จะจำกัดไม่ให้บริษัทที่เกิดจากการควบรวมกิจการใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งอาจไม่ส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่จะเป็นประโยชน์ต่อคู่แข่ง อย่าง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) แทน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้