PCC เคาะราคาขาย IPO ที่ 4 บาท เปิดจองซื้อ 10-12 ต.ค.นี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรก 21 ต.ค.

2062 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PCC เคาะราคาขาย IPO ที่ 4 บาท เปิดจองซื้อ 10-12 ต.ค.นี้ ก่อนเข้าซื้อขายวันแรก 21 ต.ค.

นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ประเทศไทย (CGS-CIMBS) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 307 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4 บาท จากราคาพาร์ที่ 1 บาท ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคมนี้ ผ่านบริษัทฯ และผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 5 ราย ประกอบด้วย บมจ. หลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS), บมจ.หลักทรัพย์ ดาโอ ประเทศไทย (DAOL) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (TNITY) บริษัท หลักทรัพย์ เอเชียเวลท์ (AWS) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล (ASL) 

ทั้งนี้ คาดว่า หุ้น PCC จะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรม ทรัพยากร พลังงานและสาธารณูปโภค วันที่ 21 ตุลาคมนี้ 

สำหรับเหตุผลที่ตั้งราคาขาย IPO ที่ 4 บาท ใช้วิธีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิย้อนหลังของบริษัทฯ ช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมปีที่แล้ว ถึงวันที่ 30 มิถุนายนปีนี้) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด ได้ P/E ที่ระดับ 19.16 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน และเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ

ด้านนายปาลธรรม เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ บมจ. ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวถึงจุดเด่นของ PCC ว่า เป็นผู้นำในธุรกิจโซลูชั่นครบวงจรของ Smart Grid ด้วยความหลากหลายของสินค้า ความรอบรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมนำเสนอให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ ระบบไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และการลงทุน Solar cell ภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้าต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสนับสนุนให้ PCC มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเติบโตไปพร้อมกับระบบไฟฟ้าที่จะพัฒนาเป็น Smart Grid ในระยะยาว สังเกตได้จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีแผนการลงทุนเฉพาะส่วน Smart Grid ถึง 2 แสนล้านบาท

ส่วนนายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCC กล่าวเสริมว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ประมาณ 1,228 ล้านบาท หลักๆ จะนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ราว 650 ล้านบาท ที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการในอนาคต ช่วง 3 ปี (2565–2567) ราว 350 ล้านบาท ที่เหลืออีก 194 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างโดดเด่น ทั้งจากโอกาสขยายงาน และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ผลักดันให้ความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และสร้างผลตอบแทนที่ดีคืนกลับให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคต

สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลัง ช่วงปี 2562-64 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 3,931.26 ล้านบาท 4,054.89 ล้านบาท และ 3,638.63 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีกำไรสุทธิ 342.24 ล้านบาท 279.96 ล้านบาท และ 228.32 ล้านบาท ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 1,726.98 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.3% ขณะที่กำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 72.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 238%  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้