2453 จำนวนผู้เข้าชม |
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง (BLS) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.เบทาโกร (BTG) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ที่ราคาหุ้นละ 40 บาท เทียบราคาพาร์ที่ 5 บาท ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม และ 17 ตุลาคมนี้ ผ่านบริษัทฯ และ บมจ.หลักทรัพย์เกียรตินาคิน ภัทร (KKPS) รวมถึงผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายอีก 6 ราย ประกอบด้วย บมจ. หลักทรัพย์ กสิกรไทย (KS), บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี (KSS) บมจ. หลักทรัพย์เมย์แบงก์ ประเทศไทย (MTS) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ (TNITY) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง (KTX) และบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์เอกซ์ (InnovestX) ก่อนเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 2 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นสามัญของ BTG จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น นับรวมจำนวนหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option) ไม่เกิน 65.2 ล้านหุ้น (คิดเป็น 15% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายตั้งต้น) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น ในช่วง 30 วันแรกหลังจากหุ้น BTG เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น ซึ่ง KKPS จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น แต่หากไม่นับรวมหุ้นส่วนเกิน จะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งสิ้น 434.8 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 21.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO
ในจำนวนนี้ จะมีการจัดสรรหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน รวมถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องและผู้มีอุปการะคุณของ BTG รวมทั้งสิ้น 169.6 ล้านหุ้น ส่งผลให้จำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปอยู่ที่ 150.5 ล้านหุ้น
ด้านนายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ และประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน KKPS ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม ชี้แจงสาเหตุในการตั้งราคาที่ 40 บาท ว่า พิจารณาจากกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมปีที่แล้ว ถึงวันที่ 30 มิถุนายนปีนี้) ซึ่งเท่ากับ 3,650.1 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้ว 1,934.8 ล้านหุ้นภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และไม่คิดรวมกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.89 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ประมาณ 21.2 เท่า แต่หากคิดรวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จะมีกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 1.83 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ประมาณ 21.9 เท่า ซึ่งถือว่า สมเหตุสมผล เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่มีธุรกิจคล้ายคลึงกันอย่าง บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) และ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) ที่ซื้อขายที่ P/E ระดับ 25 เท่า 27.3 เท่า และ 32.8 เท่า ตามลำดับ
โอกาสนี้ ที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เล่าให้ฟังด้วยว่า พร้อมเปิดเสนอขายหุ้น IPO ให้กับนักลงทุนสถาบัน ระหว่างวันที่ 20-25 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งได้มีการลงนามสัญญาลงทุนกับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เป็น Cornerstone Investors แล้ว 25 ราย คิดเป็น 76.97% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันทั้งหมด 236.6 ล้านหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ BTG ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กรด้วยระบบฐานข้อมูลเพื่อสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีฐานการตลาดทั้งในและต่างประเทศ กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ทำให้มีศักยภาพสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างแข็งแกร่ง
ที่เป็นเช่นนี้ เกิดจากความเชื่อมั่นในระยะเวลากว่า 55 ปีของ BTG ที่มุ่งมั่นจะส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพที่ดีกว่า มีความปลอดภัยที่สูงกว่า ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น ครอบคลุมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารครบวงจร ไล่ตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ขยายไปสู่การทำฟาร์มเชิงพาณิชย์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ปลา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง จนถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ตลอดจนอาหารสัตว์เลี้ยง วางจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ภายใต้แบรนด์ที่หลากหลายและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อย่างแบรนด์ S Pure, Betagro และ ITOHAM สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป และไส้กรอก หรือแบรนด์ Perfecta, DOG n joy และ CAT n joy สำหรับอาหารสัตว์ วางจำหน่าย ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งช่องทางของเบทาโกรกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ครบทุกฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นรูปแบบธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ (Asset-light investment model) แต่ใช้เครือข่ายของเกษตรกรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) โดยบริษัทฯ พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบผ่านกลยุทธ์ Agro Total Solution เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมกับให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ควบคู่กันไปด้วย
ส่วนนายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ข้อมูลถึงแผนสร้างศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจว่า บริษัทฯ จะนำเงินทุนที่ได้จากการระดมทุนราว 8 พันล้านบาท ขยายกำลังการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ หรือขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงโรงงาน ฟาร์มเดิมให้มีประสิทธิภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ให้มากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่สำคัญ เช่น สิงคโปร์และฮ่องกง ขณะเดียวกัน BTG กำลังต่อยอดโอกาสการเติบโตใหม่ (New S-Curve) ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจโปรตีนทางเลือกจากพืช ภายใต้แบรนด์ Meatly! และธุรกิจบริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ Kerry Cool ในรูปแบบร่วมค้ากับ บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย (KEX)
และเพื่อให้ฐานะทางการเงินมีความเข้มแข็ง สามารถสนับสนุนการเติบโตในระยะสั้น และการเติบโตในอนาคตได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น บริษัทฯ มีแผนจะนำเงินทุนราว 8.9 – 10.5 พันล้านบาท ชำระหนี้ระยะสั้นและระยะยาวให้กับสถาบันการเงินต่างๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนราว 1 พันล้านบาท
ขณะที่นางศิริวรรณ อินทรกำธรชัย ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานบริหารการเงิน BTG เสริมถึงผลดำเนินงานของบริษัทฯ ว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณปีละ 7.3% จากที่มีรายได้รวม 75,188.4 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มเป็น 80,631.5 ล้านบาท ในปี 2563 และ 86,743.7 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิ 1,267.5 ล้านบาท ในปี 2562 เพิ่มเป็น 2,341.0 ล้านบาท ในปี 2563 ก่อนชะลอตัวเหลือ 839.0 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาของวัตถุดิบ ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง ตามการเพิ่มขึ้นของราคาตลาดของวัตถุดิบดังกล่าว ประกอบกับการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ไก่ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณอุปทานไก่ในประเทศ จากการลดลงของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
สำหรับช่วงครึ่งแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 54,193.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้ส่วนใหญ่จากกลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 68% ของรายได้จากการขายสินค้าและบริการทั้งหมด ส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจเกษตร กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 25%, 5% และ 2% ของรายได้จากการขายสินค้าและบริการทั้งหมด ขณะที่กำไรสุทธิ 3,892.5 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดคิดเป็น 233.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทั้งใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน มีความโดดเด่นอย่างมากจากการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาและปริมาณการขาย ตามกลยุทธ์การเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป
2. กลุ่มธุรกิจเกษตร ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นตามกลยุทธ์ Agro Total Solution และการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบหลัก
3. กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ เติบโตขึ้นตามราคาขายอาหารสัตว์และราคาขายสัตว์ที่มีชีวิตในกัมพูชาและลาวที่สูงขึ้นตามราคาตลาด และ
4. กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณการขายอาหารสัตว์เลี้ยง สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเบทาโกร ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์และช่องทางจัดจำหน่ายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง