ทีมกลยุทธ์ลงทุนต่างประเทศ ASPS แนะติดหุ้น Healthcare, Consumer, Telecom ลดเสี่ยงตลาดหมี

2646 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทีมกลยุทธ์ลงทุนต่างประเทศ ASPS แนะติดหุ้น Healthcare, Consumer, Telecom ลดเสี่ยงตลาดหมี

การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูง จากแรงกดดันหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรป สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้าว่าจะชะลอตัว จนเกิดภาวะถดถอย (Recession) ตามมาในที่สุด ทำให้เกิดการลดความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า 23% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ทรุดตัวไปกว่า 31% เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นบางกลุ่มที่ยังสร้างผลตอบแทนได้ชนะตลาด อย่างหุ้นกลุ่ม Defensive โดยเฉพาะกลุ่ม Healthcare ที่ปรับตัวดีกว่าตลาด ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรือช่วงที่ตลาดยังคงมีความผันผวนสูง อาจหันไปเพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้น Defensive แทนได้



นางสาวอภิชญา ไชยฤกษ์ ฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส (ASPS) ให้เหตุผลว่า ประการแรก หุ้นกลุ่มนี้มีค่าเบต้า (ค่าความเสี่ยงเมื่อเทียบกับตลาด) ที่ต่ำ โดยมีค่าเบต้าน้อยกว่า 1 หมายความว่า หากตลาดปรับตัวลง 2% หุ้น Defensive จะปรับลงน้อยกว่า 2%

ประการที่สอง หุ้น Defensive หมายถึงหุ้นที่บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีรายได้อย่างมั่นคง จากความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้มีเสถียรภาพ เมื่อต้องเผชิญกับช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง ซึ่งเมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของ Refinitiv IBES ในอดีต พบว่า ในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปี 2007-2009 กำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 ลดลง 9 ไตรมาสติดต่อกัน แต่กลุ่ม Healthcare กลับสามารถสร้างกำไรเติบโตได้ในช่วงเวลาดังกล่าว 

สำหรับทางเลือกในการลงทุนที่ล้อไปกับกลุ่ม Healthcare จะมีกองทุนในลักษณะ ETF ที่ชื่อ Health Care Select Sector SPDR ® Fund (XLV US) ซึ่งกระจายการลงทุนในบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผู้ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวน 66 บริษัท เช่น United Health (UNH US) Johnson & Johnson (JNJ US) Pfizer Inc.(PFE US) แม้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) จะปรับตัวลง 12% แต่ก็ยังชนะตลาดโดยรวมเป็นเท่าตัว

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดหุ้นในกลุ่ม Healthcare ฝั่งสหรัฐฯ ได้แก่ United Health (UNH US) ซึ่งเป็นบริษัทประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา ไม่ว่าจะวัดโดยมูลค่าตลาดหรือรายได้ โดยทำธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ประกันสุขภาพบุคคล ประกันสุขภาพสำหรับองค์กร รวมถึงธุรกิจรักษาโรค ทั้งในรูปแบบคลินิกและออนไลน์ และระบบ Software ที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งผลตอบแทน YTD อยู่ที่ 2.7% ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวม

ขณะที่นายภาดร สุขสวัสดิ์ ฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ ASPS เสริมว่า ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัวลง และยังมีความเป็นไปได้สูงว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูง จะยังสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกยังต้องเข้มงวดนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป จึงแนะนำให้การลงทุนโค้งสุดท้ายปีนี้ ควรมองหากลุ่มธุรกิจที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ มีการจ่ายปันผลสูง มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งมักปรับตัวลงน้อยหรือปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่ม Healthcare (สุขภาพ), Consumer Staples (สินค้าอุปโภคบริโภค) และ Telecommunication (สื่อสารและไอซีที)



สำหรับแนวทางในการบริหารพอร์ตลงทุน เพื่อรับมือตลาดหมี และรอโอกาสหาผลตอบแทนจากการฟื้นตัวของราคาสินทรัพย์เสี่ยง ทีมกลยุทธ์ลงทุนต่างประเทศ ASPS แนะให้ถือเงินสด 10% และแบ่งเงินลงทุนตราสารหนี้ 15% สินทรัพย์ทางเลือก 10% เน้นไปที่การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) ส่วนที่เหลือ 65% กระจายในหุ้น แบ่งเป็นหุ้นไทย 35% หุ้นต่างประเทศ 30% พุ่งเป้าไปที่หุ้นสหรัฐฯ จีน และเวียดนาม โดยกลยุทธ์การลงทุนควรทยอยซื้อสะสมเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัว หรือซื้อแบบถัวเฉลี่ย (DCA)   

 

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้