นาทีทอง ลงทุนหุ้นเวียดนาม

2681 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นาทีทอง ลงทุนหุ้นเวียดนาม

หลังจากตลาดหุ้นเวียดนามในปักษ์แรกของเดือนตลุาคมนี้ ทรุดตัวลงกว่า 13% จากความกังวลของนักลงทุนในประเด็นดังต่อไปนี้

1. การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่่ประกาศปรับดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 4% เป็น 5% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ในเวียดนามกว่า 30 แห่ง ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นโดยเฉลี่ย 0.9% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของเวียดนาม ขึ้นมาอยู่ในระดับ 6.0% -7.5% 

2. การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ทำให้มีการลดพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกตามมา

3. การถูก Force sell บัญชี margin ของนักลงทุนรายย่อย รวมถึงการลดการปล่อย Margin lending ของโบรกเกอร์ ส่งผลให้ตลาดปรับลงในลักษณะ Panic sell จากสภาพคล่องที่ลดลงและความผันผวนที่สูง เนื่องจาก 90% ของนักลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากทางการเวียดนามจับกุมผู้บริหารของ Van Thinh Phat (VTP) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในเวียดนาม เป็นเจ้าของโครงการสำคัญมากมายในนครโฮจิมินท์ เช่น Time Square, Union Square (มูลค่ารวมกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เนื่องจากมีการออกหุ้นกู้ผิดวัตถุประสงค์ตั้งแต่ปี 2018-2019 เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีกระแสข่าวตามมาด้วยว่า ผู้ถือหุ้น VTP ที่ถูกจับกุมเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น Saigon Commercial Bank (SCB) ด้วย ทำให้อาจมีความเชื่อมโยงด้านการทำธุรกิจร่วมกันในการออกหุ้นกู้ดังกล่าว จึงเกิดกระแสเชิงลบต่อภาพลักษณ์ธนาคาร ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกแห่ถอนเงินออกจากธนาคารช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดกังวลต่อการบริหารของธนาคารเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา รักษาการผู้บริหารของ SCB ได้ออกมาแถลงว่า ผู้บริหารของ VTP ที่โดนจับกุม รวมถึงผู้ถือหุ้นของ VTP ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธนาคาร พร้อมถือโอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนด้วยว่า ธนาคารมีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอ สอดรับไปกับการออกแถลงการณ์ของธนาคารกลางเวียดนาม ยืนยันว่า ธนาคารกลางมีการติดตามปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมดูแลให้ SCB ดำเนินธุรกิจได้ต่อไปตามปกติ 

และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ๋เริ่มคลายตัว เมื่อตลาดมีความเชื่อมั่นว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะสามารถควบคุมปัญหานี้ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้นในระบบการเงินเวียดนาม จนเริ่มเห็นการพลิกฟื้นของดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามขึ้นมาในกลางสัปดาห์ ทั้งดัชนี VN30 และ VNI  

ในความเห็นของ Tisco Wealth Advisory ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่า การปรับฐานของตลาดได้ตอบรับปัจจัยเสี่ยงข้างต้นไปมากแล้ว นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก Earnings yield gap ที่ซื้อขายใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นเวียดนาม และ ค่า Forward P/E ที่ซื้อขายในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี จึงยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นเวียดนามในระยะยาว พร้อมคงคำแนะนำ "ซื้อ” ด้วยเหตุผล ดังนี้ 

1. เศรษฐกิจเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยล่าสุด IMF คาดการณ์ว่า GDP เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตได้สูงถึง 7% ในปีนี้ และ 6.7% ในปีหน้า จากการบริโภคภายในประเทศและแนวโน้มการลงทุนโดยจากต่างประเทศ (FDI) 

2. Valuation สะท้อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปมากแล้ว ดูได้จาก Forward P/E ปีนี้ และปีหน้าของตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงมาซื้อขายอยู่ในระดับเพียง 9.7 เท่า และ 8.09 เท่า ถือเป็นระดับตํ่าสุดในรอบ 10 ปี และใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดในช่วงเกิดวิกฤตโควิด ที่ค่า P/E ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8 เท่า 

3. แนวโน้มผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนยังเติบโตได้ในระดับสูง ไม่มีการปรับประมาณการกำไรลง โดย Bloomberg Consensus คาดการณ์ EPS Growth ของหุ้นเวียดนามไว้ในระดับ 22.4% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ถือเป็นการเติบโตที่สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง 

เช่นเดียวกับ ASP Investment Advisory ที่ยังมีความเชื่อมั่นในการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามระยะยาวว่า “ยังลงทุนได้” เพราะปัจจัยพื้นฐานยังเติบโตแข็งแกร่งได้เหมือนเดิม และไม่เห็นมีการปรับประมาณการกำไรลง โดยมองพื้นฐานดัชนี VN30 ที่ 1,026 จุด (คำนวณโดย earning yield gap)

ขณะเดียวกัน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นตำรับการลงทุนแนว Value Investor ยังเชื่อว่า การปรับฐานในช่วงครึ่งแรกของเดือนตุลาคม น่าจะเป็นโอกาสที่หาได้ยากในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะราคาหุ้นโดยเฉลี่ยในขณะนี้ "ถูกมาก" โดยมีค่า P/E ของตลาดน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10-12 เท่า และรวมถึงค่า P/E ของ FUEVFVND01ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่อ้างอิง "ETF Diamond" ซึ่งเป็นกองทุนหุ้น "ซุปเปอร์สต็อก" ที่ประกอบด้วยหุ้นที่มี Foreign Premium ประมาณ 20 ตัว ที่มีค่า P/E เหลือแค่ 10 เท่า และยังรวมถึง E1VFVN3001ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่อ้างอิงดัชนี VN30 หุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม (E1VFVN30 ETF) ด้วย

นอกจากนี้ การคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ของเวียดนามในช่วง 1 ปีข้างหน้า ยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นเลขสองหลักตามเดิม ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าค่า P/E ที่ต่ำในวันนี้จะสูงขึ้นในวันข้างหน้าเพราะกำไรของบริษัทลดลง ทำให้คาดว่า การเข้าไปลงทุนช่วงนี้น่าจะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นให้เห็นภายในระยะกลาง 2-3 ปีนี้ 

ขณะที่ บลจ.กรุงศรี (Krungsri Asset Fund) ให้มุมมองการลงทุนระยะสั้นว่า ถึงวันนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามกำลังมีสภาวะขายมากเกินไป (Oversold) โดยมีค่า RSI หรือ Relative Strength Index (เครื่องมือที่บ่งบอกสัญญาณแนวโน้มขาขึ้น (bullish) และขาลง (bearish) ของราคาหุ้น) อยู่ที่ 20 ซึ่งเมื่อ RSI < 30 ราคาหุ้นจะถูกลง เนื่องจากมีสภาวะขายมากเกินไป (Oversold) นักลงทุนสามารถพิจารณาหาจังหวะในการเข้าซื้อได้ โดยที่ดัชนี VN30 ระดับ 1,000 จุด จะเป็นแนวรับแนวต้านที่สำคัญ หากผ่านขึ้นไปได้ ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปทดสอบแนวต้านถัดไป


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้