คาด BBL กำไรไตรมาส 4 โตต่อหลังกำไรไตรมาส 3 พุ่ง 10% รับสินเชื่อโตเด่น ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้นสูง

2509 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คาด BBL กำไรไตรมาส 4 โตต่อหลังกำไรไตรมาส 3 พุ่ง 10% รับสินเชื่อโตเด่น ได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้นสูง

บมจ. ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 7.7 พันล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 10% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ มีกำไรสุทธิ 21,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% YoY สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 18.7% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 2.28% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 21.8% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4.2% ตามค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49%

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) อยู่ที่ 24,733 ล้านบาท ลดลง 4.9% YoY โดยมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวม (%NPL gross) ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.5% ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage ratio) อยู่สูงถึง 240.1% เมื่อเทียบกัยยอดสินเชื่อรวม 2.796 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ

ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ 18.5% และ 14.4% ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทุกสำนักยอมรับว่า BBL เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรในไตรมาส 3 ที่โดดเด่นที่สุดทั้ง QoQ และ YoY ตามสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และ NIM ที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะเห็นการเติบโตสดใสต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ รับปัจจัยฤดูกาล และการได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นช่วง 2 ปีนี้ ในสัดส่วนที่สูงอย่างไรก็ดี การที่ธนาคารนำเอารายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาตั้งสํารองฯ เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้นักวิเคราะห์บางสำนักมีความกังวลต่อคุณภาพหนี้ตามมา กระนั้น ตลาดให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยสูงถึง 169 บาท

เอเซีย พลัส (ASPS) บอกว่า การเติบโตของกำไรไตรมาส 3 ที่ 7.7 พันล้านบาท (+10% QoQ และ +11% YoY) มีแรงส่งหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) ที่ทำได้ดีกว่าคาด ทั้งจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ และธุรกิจต่างประเทศ หนุนด้วยอัตราผลตอบแทน (Yield) ที่สูงขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งภาพการเติบโตของสินเชื่อ และ Yield ที่เพิ่มขึ้น น่าจะดำเนินต่อไปในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ตามปัจจัยฤดูกาล ขณะเดียวกัน ยังคาดว่าธนาคารจะหารายได้ค่าธรรมเนียมฯ ได้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และได้ประโยชน์จากการตั้งสำรองฯ ลดลง เพราะในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ตั้งสำรองจน Coverage Ratio สูงถึง 240% แล้ว

ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า BBL จะสามารถทำกำไรสุทธิทั้งปีได้ 2.88 หมื่นล้านบาท (+8.7% YoY) เมื่อตั้งสมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยมกว่าตลาดว่า ปัจจัยบวกข้างต้นถูกหักล้างด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เร่งตัวขึ้นตามปัจจัยฤดูกาลเช่นกัน โดยมีราคาเป้าหมายที่ 159 บาท อิง P/BV ที่ 0.56 เท่า พร้อมเชียร์ "ซื้อ" 

ส่วนยูโอบี เคย์เฮียน (UOBKH) แนะนำ "ซื้อ" ด้วยราคาเป้าหมายที่ 168 บาท (อิงวิธี Gordon Growth - ROE: 6.5%, cost of equity: 10%, long-term growth: 2%) และอิง P/BV ปีนี้ที่ 0.5 เท่า หรือเทียบเท่า -0.5SD ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี เพราะเชื่อมั่นว่า BBL จะมีการเติบโตของสินเชื่อแข็งแกร่งต่อเนื่อง ตามการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ และสินเชื่อผ่านเครือข่ายระหว่างประเทศ อีกทั้งยังจะได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่เป็นขาขึ้นสูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ผลักดันให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นได้อีก หลังจากทำได้ในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 0.25% QoQ  

นอกจากนี้ การที่ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองฯ สูงกว่าคาด ดูได้จากตัวเลขผลดำเนินงานก่อนตั้งสำรองฯ (PPOP) เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 6% YoYและ 18% QoQ ทั้งที่คุณภาพของสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าจะเริ่มเห็นการตั้งสำรองฯ ในระยะต่อไปลดลง ส่งผลบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยตามมาอีกทางหนึ่ง

ในทางกลับกัน ฟิลลิป (PLS) มองต่างมุมเล็กน้อย โดยชี้ว่า แม้ BBL จะมีกําไรเติบโตสูงที่สุดในรอบปี โดยสินเชื่อที่เติบโตส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อต่างประเทศ แต่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จาก 3.4% ในไตรมาส 2 เป็น 3.5% ส่งผลให้ธนาคารต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และอาจต้องตั้งสำรองสูงกว่าที่เคยให้แนวทางไว้เดิม ซึ่งทางฝ่ายวิจัยฯ อยู่ในระหว่างรอข้อมูลแนวทางการตั้งสำรองเพิ่มเติม และอาจปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลงมาจากเดิมที่คาดว่า จะมีกำไรสุทธิทั้งปี 3.38 หมื่นล้านบาท (+27% YoY) รวมถึงราคาเป้าหมายที่ให้ไว้เดิม 151 บาทลงมา

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้