ส่อง KBANK กำไรโค้งสุดท้ายทรงตัว หลังครึ่งปีหลังเน้นดูแลคุณภาพเป็นหลัก ก่อนเร่งเติบโตเชิงปริมาณ 2 ปีข้างหน้า

2464 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ส่อง KBANK กำไรโค้งสุดท้ายทรงตัว หลังครึ่งปีหลังเน้นดูแลคุณภาพเป็นหลัก ก่อนเร่งเติบโตเชิงปริมาณ 2 ปีข้างหน้า

บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 10,574 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 220 ล้านบาท หรือ 2.04% QoQ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1,076 ล้านบาท คิดเป็น 3.36% QoQ ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 852 ล้านบาท คิดเป็น 8.97% QoQ ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง ขณะที่การปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 181 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 43.73% โดยธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน  

สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ ธนาคารมีกำไรสุทธิ 32,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4,428 ล้านบาท หรือ 15.73% YoY สาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 8,261 ล้านบาท คิดเป็น 9.32% YoY ตามการขยายสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าบุคคล และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SMEs โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น หนุนด้วยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.26% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 5,228 ล้านบาท คิดเป็น 16.22% YoY ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดของสินทรัพย์ทางการเงิน และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 3,145 ล้านบาท หรือ 6.22% YoY หลักๆ จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ทำร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.07% โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 148.74% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม และสะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามหลักเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 19.19% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในอัตรา 17.21% 

โอกาสนี้ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK ยืนยันว่า ธนาคารพร้อมเดินหน้ากลยุทธ์ใช้เทคโนโลยี และกระบวนการใหม่ๆ ผ่านการผนึกกำลังกับพันธมิตร ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนทั่วไปได้รับการสนับสนุนเงินทุนและสภาพคล่อง และใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารในวงกว้างมากขึ้น พร้อมกับให้การสนับสนุนลูกค้าธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตอบรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น 

 



อย่างไรก็ตาม ในเวทีประชุมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้บริหารกสิกรไทยยอมรับว่า มีความกังวลเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชี่ออย่างต่อเนื่ีอง ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า สินเชื่อทั้งปีอาจเติบโตไม่ได้เป้าหมาย 6-8% ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ อีกทั้งการที่ธนาคารหันมาขยายการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้พร้อมกันสำรองฯ ในระดับสูงต่อไป และอาจส่งผลให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มชะลอตัวลง

ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) บอกว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ที่ KBANK ประกาศออกมา ถือได้ว่าใกล้เคียงตลาดคาด แต่การให้ข้อมูลข้างต้น ทำให้ประเมินว่า อาจเห็นธนาคารมีกำไรไตรมาสสุดท้ายชะลอตัวลงทั้งรายไตรมาส (QoQ) และรายปี (YoY) อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่า KBANK จะควบคุม NIM ให้เติบโตได้ในอัตรา 3.1-3.3% ช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการชะลอตัวของสินเชื่อ และการกันสำรองฯ เพิ่มได้เป็นอย่างดี

ยังคงแนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมายปีหน้า 192 บาท เนื่องจากมั่นใจว่า การที่ธนาคารให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อในปีนี้ จะช่วยผลักดันให้เห็นการเติบโตด้านปริมาณตามมาในระยะต่อไป หนุนให้แนวโน้มกำไรสุทธิ และผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มสูงขึ้นและปลดล๊อคมูลค่าของธนาคารตามมา

ส่วนทรีนีตี้ (TNITY) ชี้ว่า การที่ NIM ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่น่าจะชดเชยผลกระทบจากค่าใช้จ่ายตามฤดูกาลที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ประเมินค่าใช้จ่ายสำรองหนี้จะยังทรงตัว QoQ แม้ว่าธนาคารจะยังเน้นกลยุทธ์การบริหารจัดการ NPL เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์กำไตรมาส 4 จะอ่อนตัวลง QoQ  แต่น่าจะเติบโต YoY ได้อยู่ จึงยังคงราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 177 บาท อิง P/BV 0.78 เท่า ทำให้มี Upside น่าสนใจ จึงคงคำแนะนำ "ซื้อ" เหมือนเดิม

ขณะที่โนมูระ พัฒนสิน (CNS) คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสสุดท้ายของ KBANK จะลดลง QoQ รับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการกันสำรองฯ เพิ่มขึ้น แต่จะเติบโต YoY ตามการขยายตัวของสินเชื่อ รับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ หนุนด้วยอัตราผลตอบแทน (Yield) ที่สูงขึ้นภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้คงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 4.25 หมื่นล้านบาท เติบโต 12% YoY และปีหน้าที่ 4.49 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% YoY เพราะเชื่อมั่นว่า จะเห็นการเติบโตของรายได้และกำไรต่อเนื่องใน 2 ปีข้างหน้า ขับเคลื่อนโดยการเติบโตของสินเชื่อ และค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ที่ลดลง หนุนด้วยพัฒนาการจากการเป็นผู้นำด้านการพัฒนา Digital Banking สร้างการเติบโตของรายได้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เสริมด้วยการเริ่มเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจร่วมทุน โดยเฉพาะธุรกิจบริหารหนี้ผ่านบริษัทร่วมทุนกับ บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ผลักดันงบการเงินให้เติบโตแข็งแกร่งขึ้น จึงแนะนำ "ซื้อ" โดยมีราคาเป้าหมายที่ 190 บาท

สำหรับราคาเป้าหมายของ KBANK ปีหน้าเฉลี่ย อิง Bloomberg Concencus อยู่ที่ 180.27 บาท ตามเดิม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้