SCBX กำไรตามคาด รายได้ดอกเบี้ยสุทธิโตเด่น ตั้งสำรองลดลง

2389 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SCBX กำไรตามคาด รายได้ดอกเบี้ยสุทธิโตเด่น ตั้งสำรองลดลง

บมจ. เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรสุทธิ 10,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) สาเหตุหลักจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และการตั้งสำรองฯ ลดลง โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 27,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.8% YoY หนุนโดยการเติบโตของสินเชื่อ 3.0% YoY และการปรับตัวดีขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในอัตรา 0.36%

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ อยู่ที่ 11,752 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ปรับตัวสูงขึ้น 6.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) สอดคล้องกับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนในวงกว้าง ขณะที่รายได้จากการลงทุนและการค้าลดลงถึง 81.3% YoY หลักๆ มาจากผลขาดทุนจากการวัดมูลค่าของพอร์ตลงทุนของบริษัทย่อย ตามภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงิน ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากการขายประกันภัยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 7.1% YoY เป็น 16,942 ล้านบาท แต่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้ยังสามารถควบคุมได้ดีที่ 42.6% โดยธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss - ECL) ลดลง 24.4% QoQ และ 22.8% YoY มาอยู่ที่ 7,750 ล้านบาท

สำหรับผลดำเนินงานงวด 9 เดือนปีนี้ SCBX มีกำไรสุทธิ 30,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% YoY ส่วนใหญ่จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 11.6% YoY เป็น 78,526 ล้านบาท ตามการขยายสินเชื่อในทุกกลุ่มลูกค้า หนุนด้วยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 0.25% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 46.8% YoY ส่วนใหญ่เป็นผลจากกำไรจากการลงทุนที่ลดลง

ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5.9% YoY มาอยู่ที่ 49,019 ล้านบาท หลักๆ จากค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดของบริษัทย่อย ค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธนาคารมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.34% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 0.55% โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 163.8% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามหลักเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 18.5% ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในอัตรา 17.4% 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความมั่นใจว่า ธุรกิจของกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ จะยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยกลุ่มพร้อมให้การสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในกลุ่มต่างๆ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม



ขณะเดียวกัน การจัดตั้งธุรกิจใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ยานแม่” ก็มีพัฒนาการหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ของบริษัท ออโต้ เอกซ์ (AUTOX) ภายใต้แบรนด์ "เงินไชโย" ที่สามารถขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อมากกว่า 3,000 ล้านบาท ภายในไตรมาสเดียว หรือการเปิดตัว "ซูเปอร์แอปด้านการลงทุน" รายแรกของไทย ที่รวบรวมการซื้อขายสินทรัพย์ดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ของบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ (INVX) เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด ที่ผันตัวเป็นซูเปอร์แอปเต็มรูปแบบ เมื่อสามารถเพิ่มบริการจองที่พักและกิจกรรมท่องเที่ยว (Online Travel Agent) บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) และบริการรับ-ส่งของ (Express Service) ตลอดจนได้รับใบอนุญาตแพลตฟอร์มบริการเรียกรถแล้ว

ซึ่งกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ จะไม่หยุดยั้งที่จะเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อนำพาองค์กรก้าวสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาคต่อไป 

สำหรับความเห็นนักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในเบื้องต้น ค่ายไพ (PI) บอกว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ของ SCB เป็นไปตามที่ฝ่ายวิเคราะห์ฯ คาด ทำให้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิ 3 ปีนี้ (2565-67) ขึ้น 4% 6% และ 7% ตามลำดับ เพื่อให้สะท้อนถึงการปรับเพิ่มของ NIM ที่ทำได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.1% เป็น 3.3-3.4% เสริมด้วยการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงในอัตรา 3-5% ส่งผลให้ปรับเพิ่มกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าเป็นขยายตัว 16% YoY และ 14% YoY ตามลำดับ พร้อมทั้งปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานปีหน้าจาก 139 บาท เป็น 144 บาท (ตามวิธี Gordon growth model อิง P/BV ปีหน้าที่ 1.0 เท่า เทียบเท่า  -0.5SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) ตามมา

คงแนะนำ “ซื้อ” เพราะมูลค่าหุ้นยังไม่แพง เมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างมั่นคง คุณภาพสินเชื่อที่ยืดหยุ่นดี และยังได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นอีกด้วย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้